งานวิจัยนโยบายองค์กร (OPR)
opr@nstda.or.th
0-2564-7000 ต่อ 71850-71868
Menu
องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ได้ประเมินว่า โลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปี พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา (BBC, 2023) ซึ่งเป็นเหตุให้ไทยอาจต้องเผชิญกับแรงต้านทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศดังกล่าว หากแต่ว่าองค์กรธุรกิจไทยจะสามารถต่อสู้กับแรงต้านนี้ได้มากหรือน้อย ขึ้นกับความพร้อมในการสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อรับมือกับวิกฤตที่กำลังอาจจะเกิดขึ้นนี้
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
ท่ามกลางการดิ้นรนของภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ เช่น ไวรัส สงคราม และความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในบริเวณใกล้เคียง หรือจากภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ มีนัยสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงและเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าในอดีต ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจมักจะสร้างบทเรียนซ้ำๆ ในหลายแง่มุม เช่น วิกฤตอาจสร้างความเจ็บปวดให้แก่องค์กรที่ขาดความพร้อม ในขณะที่อีกแง่มุมหนึ่ง วิกฤตกลับเป็นโอกาสในการหากลยุทธ์ที่จะมาช่วยฟันฝ่ามรสุม หรือกลับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อไปสู่จุดที่เหนือกว่าก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในองค์กรที่มีการเตรียมพร้อม เช่น การสร้างวัฒนธรรมความยืดหยุ่น (resilient organization) ภายในองค์กร (Koronis & Ponis, 2018) หรืออีกนัยหนึ่ง วิกฤตเป็นเพียงช่วงเวลาเฉพาะที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่เตรียมพร้อมได้รีเซ็ตนาฬิกา แล้วริเริ่มกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อข้ามผ่านรูปแบบการแข่งขันแบบเดิมๆ ไปสู่จุดที่สูงขึ้น เป็นต้น (Hillmann & Guenther, 2021) ทั้งนี้ คุณลักษณะร่วมขององค์กรที่สามารถเติบโตก้าวข้ามวิกฤตได้อย่างแข็งแกร่ง คือ ความยืดหยุ่น อันเป็นผลมาจากความคล่องตัว และความริเริ่มสร้างสรรค์ แต่พฤติกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทุกองค์กรที่ประสบความสำเร็จมีร่วมกัน คือ “การเลือกลงทุนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กร” (Bughin et al., 2023)
เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างเกราะกันภัยต่อวิกฤตเศรษฐกิจจากภายใน
การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล (Digitisation) แทบจะกลายเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการเติบโตขององค์กรธุรกิจทั่วโลก นับจากยุคของกระแสนวัตกรรมป่วนโลก (Disruptive innovation) โดยหากกล่าวในเชิงเหตุผลพื้นฐานแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาช่วยเพิ่มผลิตภาพการดำเนินงานขององค์กร (Preimesberger, 2020) กล่าวคือ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดต้นทุน แม้จะต้องเพิ่มการลงทุนด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนา และสินทรัพย์ใหม่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี ภายในองค์กร แต่การลงทุนและใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมในวิถีทางที่ถูกต้องจะช่วยลดผลกระทบในยามวิกฤตหรือยามที่เศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งการก้าวข้ามวิกฤตนั้น ยังจำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยี AI ร่วมด้วย
ในขณะที่ เทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งใช้การใช้เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อจัดการและประมวลผลจากข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจและการดำเนินงาน เช่น การจัดการข้อมูล การสื่อสาร และข้อมูลวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ แต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานที่แต่เดิมต้องใช้สติปัญญาของมนุษย์ เช่น การทำความเข้าใจและตีความภาษา การจดจำและตอบสนองต่อรูปแบบ การตัดสินใจ และการสังเคราะห์กระบวนการแก้ปัญหา ดังนั้น เทคโนโลยี AI สามารถใช้ในธุรกิจเพื่อทำให้กระบวนการเป็นไปโดยอัตโนมัติ ช่วยคาดการณ์และตัดสินใจ ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพและผลผลิต
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างแข็งแกร่งสู่ภายนอก
เทคโนโลยี AI ถูกคาดหมายว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะตอบสนองประสิทธิภาพการดำเนินงานทางธุรกิจได้ในทุกวิกฤต ทั้งนี้ แต่ละวิกฤตมักจะมีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไป เนื่องจากในช่วงวิกฤต ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนและมีความเฉพาะเจาะจงสูงขึ้น เช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายสินค้ามากกว่าช่วงเวลาปรกติ หรือช่วงวิกฤตสุขภาพ COVID-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคต้องการเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นการเฉพาะ ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถช่วยจับสัญญาณและตอบสนองความผิดปรกติเหล่านี้ได้ (Bughin et al., 2023) ยิ่งไปกว่านั้น กรณีศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI จำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ศักยภาพของ AI เชิงประจักษ์ เช่น การควบคุมและตัดสินใจในระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ การคัดกรองและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ลดระยะเวลาและความเสี่ยงในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมยาในภาคเภสัชกรรม พัฒนาระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับในภาคยานยนต์ หรือเพิ่มระดับความแม่นยำและยกระดับการตัดสินใจในระบบการจัดการการดำเนินงานภายในองค์กร เป็นต้น
โดยบริษัท Accenture ได้วิเคราะห์ผลความสัมพันธ์ของการลงทุนใช้เทคโนโลยี AI และความเสี่ยงภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และพบว่า เทคโนโลยี AI เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างมากในช่วงเวลาวิกฤต อ้างอิงจากผลการศึกษาดังแสดงในภาพที่ 1 ที่ว่า กรณีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุน AI นั้น สัดส่วนรายได้เฉพาะที่ได้รับจากการนำ AI มาใช้ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าระหว่างปี 2018 ถึง 2021 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประมาณสามเท่าโดยเฉลี่ย ระหว่างปี 2018 ถึง 2024 (Accenture, 2022)
แผนภาพแสดงผลการคาดการณ์สัดส่วนรายได้ที่ได้รับอิทธิพลจาก AI ขององค์กรเอกชน ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2024 จากจำนวนตัวอย่าง 1,200 บริษัททั่วโลก
ที่มา: Accenture (2022)
กล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยี AI มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน โดย เทคโนโลยีดิจิทัลจะมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรและข้อมูลภายในองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่เทคโนโลยี AI จะช่วยเสริมสร้างระบบอัจฉริยะที่เคยเป็นบทบาทการทำงานของมนุษย์ โดยการทำงานของ AI จะมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลความต้องการ การบริการ ข้อมูลการขาย หรือคำแนะนำด้านการตลาดของลูกค้าจากภายนอกองค์กร ดังนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นตัวสนับสนุนและบูรณาการข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อนำมาใช้และช่วยยกระดับให้ AI สามารถทำงานก้าวข้ามขอบเขตดั้งเดิมของเทคโนโลยีดิจิทัลให้ครอบคลุมด้านต่างๆ ซึ่งการประสานประโยชน์กันของสองเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ จะช่วยยกระดับความยืดหยุ่นและเพิ่มผลิตภาพการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ ให้สามารถต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ และสามารถเติบโตต่อเนื่องต่อไปได้ในระยะยาว ดังนั้น ควบคู่กับการลงทุนด้านดิจิทัล การเพิ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาและการลงทุนบนเส้นทางการพัฒนา AI จึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดที่ซับซ้อน ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของ AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจที่กระบวนการตัดสินใจผู้บริโภคมีความเปราะบางและแปรปรวนสูง เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพื่อประโยชน์เพิ่มเติมในการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
Reference
Accenture. (2022). The art of AI maturity: Advancing from practice to performance.
BBC. (2023, January 2). Third of world in recession this year, IMF head warns – BBC News. BBC News. https://www.bbc.com/news/business-64142662
Bughin, J., Hintermann, F., & Roussière, P. (2023, January 9). Crisis? What Crisis? Why European Companies Should Double Down on AI Now – The European Business Review. The European Business Review. https://www.europeanbusinessreview.com/crisis-what-crisis-why-european-companies-should-double-down-on-ai-now-2/
Hillmann, J., & Guenther, E. (2021). Organizational Resilience: A Valuable Construct for Management Research? International Journal of Management Reviews, 23(1), 7–44. https://doi.org/10.1111/IJMR.12239
Koronis, E., & Ponis, S. (2018). Better than before: the resilient organization in crisis mode. Journal of Business Strategy, 39(1), 32–42. https://doi.org/10.1108/JBS-10-2016-0124/FULL/XML
Preimesberger, C. (2020). How IT Can Help Businesses Roar Out of a Recession – eWEEK. https://www.eweek.com/innovation/how-it-can-help-businesses-roar-out-of-a-recession/