พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

          จากปริมาณการซื้อขายของบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ Network effect ซึ่งหมายถึง การที่อัลกอลิทึมของแพลตฟอร์มต่างๆ จะทำการจัดอันดับและเลือกแนะนำสินค้าหรือบริการ จากร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม โดยที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้เกณฑ์อะไรในการจัดอันดับหรือเลือกร้านค้า และเกณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสม โปร่งใส และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งานมากน้อยเพียงใด

         ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) ขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่ในการจดแจ้งข้อมูลต่างๆ กับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ตัวอย่างเช่น แจ้งว่าผู้ประกอบธุรกิจเป็นใคร ให้บริการอะไรและกำลังจะให้บริการอะไร และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่จำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจและช่วยคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งในมุมผู้บริโภคและผู้ให้บริการ/ผู้ขาย โดยกฎหมาย DPS นี้มีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

     สำหรับลักษณะและประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจ ภายใน 18 พฤศจิกายน 2566 นั้นประกอบด้วย

  • แพลตฟอร์มที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านเครือขายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace Platform)
  • แพลตฟอร์มแชร์หรือที่แบ่งปันทรัพยากรหรือบริการ เช่น บริการแชร์รถยนต์ บริการแชร์ที่พัก บริการจัดหาแม่บ้านหรือช่าง
  • แพลตฟอร์มใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน
  • แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหากับคนอื่นๆ
  • แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ ครอบคลุมทั้งภาพ เสียงและวิดีโอ
  • แพลตฟอร์มที่รวบรวมและนําเสนอข่าวสารจากแหล่งข่าวต่างๆไว้ที่เดียว
  • แพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (Searching Tools)
  • แพลตฟอร์มแผนที่ออนไลน์
  • แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์
  • แพลตฟอร์มผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistants) ให้ข้อมูล ตอบคําถาม หรือควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ
  • แพลตฟอร์มบริการคลาวด์ (Cloud Service Platform)
  • ระบบปฏิบัติการ (Operating System)
  • เว็บเบราว์เซอร์ (web browsers)
  • ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider)
  • ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)

          โดยผู้มีหน้าที่แจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี, บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี, มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

          ทั้งนี้ หน่วยงานหรือธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าไปประเมินตนเองว่าเข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องจดแจ้งหรือไม่ ได้ที่ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment และสามารถแจ้งการประกอบธุรกิจได้ผ่าน 2 ช่องทางคือ (1) ระบบจดแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Website) ที่ https://eservice.etda.or.th/dps/ และ (2) ศูนย์กำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการตรวจสอบบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือบริการดังกล่าวได้รับเครื่องหมายรับรองถูกต้องหรือไม่ สามารถทำการตรวจสอบได้ที่ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx

ที่มา: 

1/ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2566). เปิดวิธีการแจ้งข้อมูลกฎหมาย DPS ไม่ยากอย่างที่คิด รีบลงทะเบียนก่อนสาย!. วันที่ค้นข้อมูล 22 พฤศจิกายน 2566, จาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซด์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/dps_open.aspx

2/ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2566). “กฎหมาย DPS” มีแล้วใครได้ประโยชน์ เจาะอินไซต์ที่ ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องอ่าน!. วันที่ค้นข้อมูล 22 พฤศจิกายน 2566, จาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซด์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/dps_inside.aspx