งานวิจัยนโยบายองค์กร (OPR)
opr@nstda.or.th
0-2564-7000 ต่อ 71850-71868
Menu
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่รู้จักกันในนาม “AI” เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากภาคอุตสาหกรรม ที่มีการนำเอา AI มาใช้ในกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการภายในโรงงานในหลายภาคส่วน อีกทั้งภาครัฐ ในประเทศต่างๆ ก็มีการนำเอา AI เข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินภารกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) ได้มีการนำเอา AI เข้าไปปรับปรุงการดำเนินงานของภาครัฐผ่าน Digital Platform Government รวมถึงสหราชอาณาจักร ที่ให้การสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมโดยการนำ AI เข้ามาใช้ในการคัดกรองผู้ป่วย เป็นต้น
จากความสำคัญของ AI ดังกล่าว Oxford Insights and the International Research Development Centre (IDRC) จึงได้ทำการศึกษาความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) จำนวน 193 ประเทศ โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้ 39 ตัวชี้วัด ใน 10 มิติ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้านคือ
ด้านที่ 1 รัฐบาล (Government Pillar) ประกอบไปด้วย 4 มิติ ได้แก่ 1) วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของรัฐบาลในการพัฒนาและควบคุม AI (Vision) 2) การกำกับดูแลและจริยธรรม (Governance & Ethics) 3) สมรรถนะด้านดิจิทัล (Digital Capacity) และ 4) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
ด้านที่ 2 เทคโนโลยี (Technology Sector Pillar) ประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่ 1) ความสามารถในการนำ AI ไปใช้ (Maturity) 2) ความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation Capacity) และ 3) ทุนมนุษย์ (Human Capital)
ด้านที่ 3 ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (Data & Infrastructure Pillar) ประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 2) ความพร้อมของข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ (Data Availability) และ 3) ความเป็นตัวแทนของข้อมูล (Data Representativeness)
ผลจากการสำรวจดังกล่าวพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 193 ประเทศทั่วโลก หรืออันดับ 7 ของทวีปเอเชียตะวันออก ด้วยคะแนน 63.03 คะแนน ซึ่งยังคงเป็นรองสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับที่ 2 และ 23 ของโลก ตามลำดับ
โดยไทยมีความพร้อมของรัฐบาลสูงกว่าด้านอื่นๆ คือ 77.21 คะแนน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงมิติความพร้อมของรัฐบาลทั้ง 4 มิติในด้านดังกล่าวพบว่า ไทยมีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของรัฐบาลในการพัฒนาและควบคุม AI มากเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนนสูงถึง 100.00 คะแนน ในขณะที่มิติเรื่องความสามารถในการปรับตัวนั้น ไทยกลับมีความพร้อมในมิตินี้น้อยที่สุดคือ 56.16 คะแนน ส่วนอีก 2 มิติคือ มิติสมรรถนะด้านดิจิทัล และมิติการกำกับดูแลและจริยธรรม ไทยมีคะแนนอยู่ที่ 77.20 และ 75.50 คะแนน ตามลำดับ
ส่วนความพร้อมด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นด้านที่ไทยมีความพร้อมรองจากความพร้อมของรัฐบาลนั้นพบว่า ไทยมีคะแนนความพร้อมด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 70.55 คะแนน โดยมิติความพร้อมของข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นมิติที่ไทยมีความพร้อมมากที่สุดคือ 77.30 คะแนน ลำดับรองลงมาคือ มิติความเป็นตัวแทนของข้อมูล ซึ่งไทยมีคะแนนอยู่ที่ 72.31 คะแนน ส่วนมิติด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นกลับพบว่า ไทยมีคะแนนความพร้อมน้อยที่สุดคือ 62.04 คะแนน
สำหรับความพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งนับได้ว่าเป็นด้านที่ไทยมีความพร้อมน้อยที่สุดคือ 41.33 คะแนน ผลจากการสำรวจในระดับมิติพบว่า มิติความสามารถด้านนวัตกรรม เป็นเพียงมิติเดียวที่ไทยมีคะแนนสูงกว่าครึ่งหนึ่งคือ 59.16 คะแนน ในขณะที่มิติทุนมนุษย์ และความสามารถในการนำ AI ไปใช้ เป็นสองด้านที่ไทยมีคะแนนความพร้อมที่ต่ำกว่าครึ่งคือ 37.18 และ 27.67 ตามลำดับ
ที่มา: Oxford Insights and the International Research Development Centre. (2023). Government AI Readiness Index 2023. Retrieved September17, 2024 from https://oxfordinsights.com/wp-content/uploads/2023/12/2023-Government-AI-Readiness-Index-1.pdf