"เกร็ดความรู้งานวิจัย"

มาทำความรู้จักกับการวิจัยเชิงนโยบาย (Policy Research)

          การวิจัย (Research) นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการศึกษาเพื่อหาคำตอบให้กับประเด็นที่มุ่งศึกษา โดยการวิจัย นอกจากจะทำการศึกษา วิเคราะห์แล้ว ยังมีการทดลองอย่างเป็นระบบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งการทดลองนี้จะมีการใช้เครื่องมือ หรือวิธีการในรูปแบบต่างๆ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เป็นหลักการ และแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยการวิจัยมีด้วยกันหลายลักษณะ เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยทางสังคมศาสตร์ การวิจัยทางการตลาด และการวิจัยเชิงนโยบาย เป็นต้น

          สำหรับการวิจัยเชิงนโยบาย (Policy Research) เป็นการศึกษาเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน หรือแนวปฏิบัติของหน่วยงาน โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยเชิงนโยบายนั้นจะช่วยให้การตัดสินใจกำหนดนโยบายดังกล่าวมีความถูกต้อง และเหมาะสมมากขึ้น ในการทำวิจัยเชิงนโยบายมักมีขั้นตอนและรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากการทำวิจัยลักษณะอื่นมากนัก คือ

1) กำหนดปัญหาการวิจัยและขอบเขตการศึกษา เมื่อนักวิจัยได้รับโจทย์ในการวิจัยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยจะต้องตีความโจทย์ดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่ต้องการศึกษา รวมถึงกำหนดกรอบในการศึกษาให้ครอบคลุมกับโจทย์ที่กำหนด ซึ่งในขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลตามกรอบที่กำหนด

2) กำหนดวิธีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล การวิจัยเชิงนโยบายนั้นจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในหลากหลายบริบท เพื่อดูองค์ประกอบและแนวทางจากระดับบนคือ นโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางการขับเคลื่อน ในระดับประเทศ ไปจนถึงบริบทในระดับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยได้ทราบถึงมุมมองของภาครัฐ/ องค์กรที่มีต่อเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้ การทำวิจัยเชิงนโยบายในบางประเด็นก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลตลาดและอุตสาหกรรม แนวโน้มเทคโนโลยี หรือแนวโน้มโลกต่างๆ ที่คาดว่าจะเข้ามากระทบหรือทำให้ประเด็นวิจัยนั้นเปลี่ยนแปลงไป การวิจัยเชิงนโยบาย ถึงแม้จะมีการศึกษาข้อมูลในระดับทุติยภูมิ (Secondary data) เป็นส่วนมาก แต่ก็จำเป็นที่นักวิจัยจะต้องค้นหาคำตอบโดยใช้วิธีการศึกษาแบบปฐมภูมิ (Primary data) ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลในเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก หรือที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ (QualitativeResearch)

3) การวิเคราะห์ข้อมูล การทำวิจัยเชิงนโยบายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยจะต้องค้นหาและศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรค ปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อประเด็นวิจัย สถานภาพหรือสถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายหรือแนวโน้มของภาครัฐต่อประเด็นดังกล่าว จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดทั้งสถานภาพปัจจุบันและแนวโน้ม/แนวทางในอนาคตมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เห็นถึงทิศทางที่องค์กรควรจะดำเนินการต่อประเด็นนั้นๆ

4) การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำบทสรุปจากการศึกษาแล้วหัวข้อหนึ่งที่นักวิจัยจะต้องจัดทำและให้ความสำคัญคือ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยภายใต้หัวข้อนี้ จะเป็นการกล่าวถึงบทสรุป และข้อเสนอแนะถึงทิศทางในอนาคตต่อประเด็นวิจัยดังกล่าวขององค์กร  เช่น แนวทาง วิธีการ แนวปฏิบัติที่องค์กรควรจะดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับบริบทต่างๆ ของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ นโยบาย และสภาพอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงภารกิจ บทบาทหน้าที่ ศักยภาพ และคุณลักษณะขององค์กรต่อประเด็นวิจัยนั้นๆ เมื่อได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าว ก็จะนำไปสู่การนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบภายในองค์กรต่อไป

เอกสารอ้างอิง: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. นิยามเกี่ยวกับการวิจัย. วันที่ค้นข้อมูล 19 สิงหาคม 2564, จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เว็บไซด์ https://www.kmutt.ac.th/rippc/nrct59/15a4.pdf