"เกร็ดความรู้งานวิจัย"

     ในบทความฉบับที่ผ่านมา ได้พาไปทำความรู้จักกับการวิจัยเชิงนโยบาย (Policy Research) กันมาแล้ว และในบทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล หรือวิธีการเก็บข้อมูลที่นำมาใช้ในการทำวิจัยเชิงนโยบาย การเก็บข้อมูลสำหรับการทำวิจัยเชิงนโยบายนั้น มีรูปแบบหรือวิธีการเก็บที่ไม่แตกต่างจาการทำวิจัยในรูปแบบอื่นๆ โดยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นมีด้วยกัน 2 รูปแบบหลักคือ การเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิ (Primary data) และการเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิ (Secondary Data)

     การเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิ (Primary data) เป็นการที่ผู้วิจัยดำเนินการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการด้วยตนเอง ซึ่งในการทำวิจัยเชิงนโยบายนั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิใน 2 ลักษณะคือ แบบสอบถาม (Questionnaire) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)

  • แบบสอบถาม (Questionnaire) การจัดทำแบบสอบถามนั้นผู้วิจัยสามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ 1) การสร้างแบบสอบถามขึ้นด้วยตนเอง แบบสอบถามในรูปแบบนี้จะถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้วิจัย เพื่อให้ได้แบบสอบถามที่สามารถเก็บข้อมูลที่ครบและตรงกับความต้องการ 2) การนำแบบสอบถามมาปรับปรุง โดยนักวิจัยอาจนำโครงร่างแบบสอบถามที่ใกล้เคียงมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับงานวิจัยที่ต้องการศึกษา
  • การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้วิจัยสามารถใช้วิธีนี้ในการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะเมื่องานวิจัยนั้นต้องการได้ข้อมูลที่มีความละเอียด และเป็นข้อมูลเชิงลึก อย่างไรก็ตาม ในการทำวิจัยนโยบายนั้น บางครั้งก็มีการใช้แบบสอบถามควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์เชิงลึก ในกรณีที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมาก และหลากหลายกลุ่ม ซึ่งการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามนั้น อาจให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ หรือบางครั้ง เมื่อทำการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามแล้ว ก็มีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างผู้นั้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึก และเป็นประโยชน์ต่อประเด็นวิจัยมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญของการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกนั้นก็คือ การเตรียมข้อคำถามให้มีความครอบคลุมในทุกประเด็นที่ต้องการคำตอบ โดยอาจจัดเตรียมข้อคำถามตามโครงสร้างดังเช่นการจัดทำแบบสอบถาม แต่ประเด็นคำถามนั้นควรมีความเปิดกว้าง และไม่ชี้นำผู้ถูกสัมภาษณ์

          การเก็บข้อมูลแบบทุติภูมิ (Secondary Data) เป็นการรวบรวมผลงาน รายงาน บทความ หรือแม้แต่รายงานประจำปี ซึ่งมีหน่วยงาน หรือบริษัทต่างๆ ได้จัดทำไว้ โดยข้อมูลทุติยภูมินี้ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยได้ใน 2 ลักษณะคือ

  • การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) เป็นการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่กำลังศึกษา และมีการจัดทำไว้จากแหล่งต่างๆ มารวบรวมและประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นถึงบทสรุปของประเด็นที่ทำการศึกษา เช่น เมื่อต้องศึกษาแนวทางการพัฒนาด้านเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย ผู้วิจัยสามารถศึกษาประเด็นดังกล่าวได้จากนโยบาย และแผนต่างๆ ของประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
  • การนำข้อมูลทุติยภูมิมาใช้ประกอบ/ทดแทนข้อมูลปฐมภูมิที่ขาดหาย วิธีการนี้ถูกนำมาใช้เมื่อไม่สามารถเก็บข้อมูลปฐมภูมิได้ ตัวอย่างเช่น ในการทำวิจัยตลาด และมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลหรือตัวเลขทางการตลาดบางอย่าง ผู้วิจัยสามารถค้นหาข้อมูลได้จากรายงานประจำปีของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท และข้อมูลงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลมาใช้ในลักษณะนี้ จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงและตรงกับสภาพตลาดมากที่สุด

ทั้งนี้ การเลือกวิธีการเก็บข้อมูลในการทำวิจัยนโยบายนั้น จำเป็นที่นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ลักษณะของโจทย์วิจัย: การตีความโจทย์การวิจัยที่ชัดเจนนั้น จะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถกำหนดแนวทางในการเก็บข้อมูลได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • จำนวน และลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง: นับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องมือในการเก็บข้อมูล โดยการทำวิจัยเชิงนโยบายนั้น ผู้วิจัยจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มตัวอย่าง และทราบจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ชัดเจน รวมถึงลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อที่จะได้กำหนดวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสม และได้ข้อมูลตอบกลับที่ถูกต้องและครบถ้วน
  • ลักษณะและรูปแบบของข้อมูลที่ต้องการ: เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกเครื่องมือ/วิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งหากผู้วิจัยมิได้คำนึงถึงลักษณะและรูปแบบของข้อมูลที่ต้องการ อาจทำให้ข้อมูลที่ได้มาไม่สามารถตอบโจทย์วิจัยได้อย่างถูกต้อง
  • ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล และคุณภาพของข้อมูล: เมื่อพิจารณาเลือกเครื่องมือวิจัยโดยคำนึงถึงโจทย์วิจัย กลุ่มตัวอย่าง รูปแบบของข้อมูลที่ต้องการแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ งบประมาณ และความสามารถในการจัดเก็บ เนื่องจากงานวิจัยบางประเภทจำเป็นต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องคำนึงถึงความสามารถและงบประมาณในการจัดเก็บข้อมูล มิเช่นนั้นข้อมูลที่ได้อาจไม่ครบถ้วน และไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถเป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากรในการวิจัยได้

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 1.4 แหล่งที่มาของข้อมูล (Source of Data). วันที่ค้นข้อมูล 18 กรกฎาคม 2565, จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เว็บไซด์ https://service.nso.go.th/nso/knowledge/estat/esta1_4.html

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 1.7 แนวทางการเลือกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล. วันที่ค้นข้อมูล 18 กรกฎาคม 2565, จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เว็บไซด์ https://service.nso.go.th/nso/knowledge/estat/esta1_4.html

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี. บทที่ 8 เครื่องมือ วิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล. วันที่ค้นข้อมูล 12 กรกฎาคม 2565, จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เว็บไซด์ https://www.udru.ac.th/oldsite/attachments/elearning/01/09.pdf