กิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่: การรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDIMS) เพื่อสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี 200%

กิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่

“การรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDIMS) เพื่อสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี 200% ในรายจ่ายสำหรับการวิจัยฯ”

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 – 11.30 น.ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex webinar

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สวทช. โดยงานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เรื่อง “การรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDIMS) เพื่อสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี 200% ในรายจ่ายสำหรับการวิจัยฯ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (มาตรการยกเว้นภาษี 200%) และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ RDIMS ทั้งรายละเอียดของข้อกำหนดระบบ RDIMS 5 ข้อ และการประยุกต์ใช้ในองค์กร รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการ SME ปัง ตังได้คืน ของ สสว. ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ SMEs และบริการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS ซึ่ง สวทช. ได้เปิดให้บริการบนระบบ BDS ของ สสว.

ในการจัดงานได้รับเกียรติจาก ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน สวทช. กล่าวเปิดงาน โดยดร.เจนกฤษณ์ กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยล่าสุดปรับเป้าหมายการเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากร้อยละ 1.33 ของ GDP ภายในปี 2563 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ภายในปี 2570 ซึ่งการจะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศการลงทุนด้าน R&D ที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนให้หันมาลงทุนมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการใส่งบประมาณจากภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การลงทุนด้าน R&D ที่เติบโตตามเป้าหมาย โดยหนึ่งในระบบนิเวศการลงทุน R&D ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องก็คือ การกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDI) ด้วยกลไกมาตรการภาษี โดยผลการดำเนินงานของ สวทช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ยื่นขอการรับรองเป็นรายโครงการ จำนวนรวม 490 ราย ซึ่งมีทั้งรายเดิมที่ยังคงขอรับรองทุก ๆ ปีอย่างต่อเนื่อง และรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี มีโครงการวิจัยฯ ที่ได้รับการรับรองรวมทั้งสิ้น 5,662 โครงการ คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 21,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่ยื่นขอตรวจประเมินระบบ RDIMS และได้รับการรับรองแล้ว รวมทั้งสิ้น 15 ราย ซึ่งผู้ประกอบการที่ยื่นขอตรวจประเมินระบบ RDIMS ยังมีจำนวนไม่มากนัก สวทช. จึงเห็นถึงความจำเป็นในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดและการประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กร รวมทั้งประโยชน์ของวิธีการ self-declaration สำหรับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษี 200% ที่คาดว่าจะมีประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ”

ภายในงานผู้เข้าร่วมงานได้รับฟังการบรรยายเรื่อง “สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี 200% ในรายจ่ายการวิจัยฯ” โดย คุณพรศิริ ทองเปรม รักษาการ ผู้จัดการงานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช. ซึ่งได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ มาตรการยกเว้นภาษี 200% ให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการยกเว้นภาษี 200% และรูปแบบการยื่นขอการรับรองจาก สวทช. ทั้งรับรองโครงการวิจัยฯ (วิธี Pre-Approval) และรับรองระบบ RDIMS (วิธี Self-Declaration)

Highlight ของงานเป็นการบรรยาย ในหัวข้อ เรื่อง “ข้อกำหนดและการประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กร” โดย คุณวันเพ็ญ ดีพรม นักวิเคราะห์อาวุโส งานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช. ได้บรรยายเจาะลึกข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research Development and Innovation Management System – Requirements) หรือ RDIMS เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจการประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กร

นอกจากนั้น เราได้รับฟังประสบการณ์ การเป็นที่ปรึกษาระบบ RDIMS ในองค์กร ของคุณณัฐพล เอกไพศาล วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ทั้งแนวทางการให้การปรึกษาแนะนำการจัดทำระบบ RDIMS การประยุกต์ใช้ RDIMS โดยการ Integrate กับระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 รวมถึงประโยชน์ที่ผู้บริหารได้รับจากการจัดทำระบบ RDIMS และปัจจัยความสำเร็จในการจัดทำระบบ RDIMS ด้วย

และในช่วงท้ายสำหรับหน่วยงานที่เริ่มสนใจ ระบบ RDIMS ก็มีข่าวคราวดีๆ มาแบ่งปัน เป็นเรื่อง “งบประมาณสนับสนุนสำหรับ SME ในการพัฒนาระบบ RDIMS ในองค์กร” โดย คุณจันธิดา โลหิตศิริ หัวหน้าส่วนประสานเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมช่วงพิเศษ สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ได้รับคัดเลือก คือช่วง คลินิกให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ RDIMS ในองค์กร แบบ One on One เพื่อเข้ารับคำปรึกษา แบบตัวต่อตัวกับเจ้าหน้าที่

จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัย ลงทะเบียน 508 คน และเข้าร่วมงานในวันจัดกิจกรรม 374 คน จากกว่า 200 หน่วยงาน โดยผู้สนใจที่พลาดกิจกรรมในวันงานสามารถรับชมย้อนหลังได้