กิจกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน ในการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียว
สวทช. ติวเข้มภาคเอกชน ด้วยอุตสาหกรรม 4.0-อุตสาหกรรมสีเขียว ยกระดับสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม CO-113 อาคารสำนักงานกลาง (อาคาร 1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม CO-113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา (RDIM) เป็นประธานเปิด “กิจกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน ในการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียว” โดยมีนายภาณุทัต ธรรมบุศย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม (IPD) สวทช. ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการ ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) สวทช. และ ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. พร้อมทีมงาน เข้าร่วมกิจกรรมและบรรยายให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการกว่า 50 รายที่เข้าร่วมงาน
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า หนึ่งกลยุทธ์สำคัญของ สวทช. ในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ Industry 4.0 Platform ซึ่งเป็นแผนงานที่สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนั้น สวทช. มุ่งสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการ ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ บริการรับรองเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ของภาครัฐ การร่วมวิจัย รับจ้างวิจัย และการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ที่จะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น และนำไปสู่การทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
การจัดงานครั้งนี้ งานสนับสนุนการวิจัยพัฒนาภาคเอกชน ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การรับรองงานวิจัยฯ การรับรองธุรกิจเทคโนโลยี และการรับเงินบริจาคให้แก่กองทุน สวทช. ได้ร่วมกับ กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 และฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) ผนึกกำลังกันเพื่อให้ประโยชน์เกิดแก่ผู้ประกอบการไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางยกระดับสู่อุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางในการมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม ปรับตัว ยกระดับ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยทำให้ผู้ประกอบการทราบสิทธิประโยชน์ของภาครัฐเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม workshop “การประเมินระดับความพร้อมขององค์กรสู่การผลิตยุคดิจิทัลด้วยตัวเองด้วยระบบ Online & Interactive Self-Assessment” ของกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 และการให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการวิจัยฯ ในภาคอุตสาหกรรมด้วย