CEO INNOVATION FORUM 2016 และเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (25 มีนาคม 2559)

     กระทรวงวิทย์ จับมือประชารัฐ หนุนเศรษฐกิจประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันหลายมาตรการเพื่อ SMEs และ Startups พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม เอกชนขานรับร่วมงาน CEO Innovation Forum 2016

     25 มีนาคม 2559 : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกันจัดงาน “CEO Innovation Forum 2016  และเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม” โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ภายในงานมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานร่วมคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม

 

 

     ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และจะต้องเชี่อมโยงประสานพลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของคณะทำงานร่วมประชารัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน โดยออกแบบให้เหมาะกับขนาดธุรกิจ ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม มาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ให้เหลือ 10% ในระยะเวลา 2 รอบบัญชี มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ระยะเวลา 5 รอบบัญชีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่ม New Growth Engine การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท การตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจSME ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบคูปอง โครงการบัญชีนวัตกรรม

     ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงมาตรการยกเว้นภาษี 300% เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมว่า การเปิดเสรีทางค้าทำให้ทุกประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรง ประเทศไทยต้องปรับตัวจากประเทศที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพ (efficiency-driven) มาเป็นนวัตกรรม (innovation-driven) ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักที่จะนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income trapped country) รวมทั้งเป้าหมายปี 2559 ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี >>ผลการดำเนินงาน<<

 

     โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฏากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ยกเว้นภาษี 300%) โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุดร้อยละ 60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6 โดยทั้งสองกระทรวงฯ ได้ศึกษาแล้วว่า การกำหนดวงเงินอย่างเป็นขั้นบันไดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ มาตรการนี้กำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต