For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/rice-disease-bot-chatbot-for-rice-disease-identification.html
ประเทศไทยผลิตข้าวได้มากกว่า 26 ล้านตันต่อปี เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญอันดับ 4 ของโลก หากแต่รายได้ที่นำกลับเข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีนี้กลับไม่ได้สะท้อนถึงผลกำไรที่เกษตรกรควรได้รับ เพราะชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในวังวนของการ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ รวมถึงวิกฤตโรคระบาดที่ฉุดรั้งผลผลิตข้าวไทยให้ถดถอยลงทุกที
กลุ่มโปรแกรมเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการวิจัย “โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าวโดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์” ให้แก่ทีมวิจัยจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินการพัฒนา ‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีแก่เกษตรกร เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกปัญหาการรับมือกับโรคระบาด ลดต้นทุนการใช้สารเคมีที่เสียไปอย่างไร้ค่า และยกระดับผลผลิตข้าวไทยให้มากขึ้น
นายวศิน สินธุภิญโญ นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบอทโรคข้าวเล่าว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2562 โดยความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. กับภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต้องการสร้าง ‘แพลตฟอร์มกลาง’ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือการวินิจฉัยโรคข้าวที่มีประสิทธิภาพ พร้อมได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคระบาดในพื้นที่และในภาพรวมของประเทศได้อย่างทันการณ์
“จากโจทย์ปัญหานำมาสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ ระบบแชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยแพลตฟอร์มนี้ผ่านการออกแบบให้เกษตรกรใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างใช้งานจนคุ้นเคยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกษตรกรพบเห็นความผิดปกติของต้นข้าวในแปลงนาสามารถส่งข้อมูลให้ระบบวินิจฉัยโรคได้ทันที วิธีการใช้งานเพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นข้าวแล้วส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึงภาพไปยังคลาวด์ และส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกลับมารายงานให้เกษตรกรทราบภายใน 3-5 วินาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบโรคข้าวที่เกิดขึ้นในแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ตามการพัฒนา ‘บอทโรคข้าว’ ให้ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบบูรณาการความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านโรคข้าว การพัฒนาคลังจัดเก็บชุดข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยี AI
นายวศิน เล่าว่า ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม อาจารย์และทีมงานจากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ช่วยดำเนินงานภาคสนาม ต่างมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยจัดทำชุดข้อมูลเพื่อให้ทีมวิจัยได้นำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ AI
“ปัจจุบันบอทโรคข้าวให้บริการวิเคราะห์โรคข้าวที่สำคัญในไทยได้แล้วถึง 10 โรค ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบขีดโปร่งแสง โรคไหม้คอรวง โรคดอกกระถิน โรคใบวงสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง และโรคใบหงิก โดยเปิดให้เกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ทดลองใช้บริการแล้วผ่าน ‘กลุ่มบอทโรคข้าวของแต่ละจังหวัด’ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้าวตรวจทานความถูกต้องของผลการวินิจฉัย รวมถึงช่วยตอบข้อสงสัยและให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เกษตรกรด้วย”
ทั้งนี้ผลการรวบรวมข้อมูลสถิติการใช้งานพบว่าในปี 2566 มีผู้ใช้งาน ‘บอทโรคข้าว’ แล้วประมาณ 3,500 คน โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นฟันเฟืองหลักนำแพลตฟอร์มไปขยายผลให้เกษตรกรในหลายจังหวัดทั่วประเทศได้ทดลองใช้งาน
ผศ. ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล อาจารย์ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ริเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเล่าว่า หลังจากทีมร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มจนพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565 ทีมงานจากภาควิชาฯ ได้นำแพลตฟอร์ม ‘บอทโรคข้าว’ ไปเผยแพร่และอบรมให้เกษตรกรเป้าหมายกว่า 3,200 คน จากจังหวัดลำปาง เชียงราย อุดรธานี และนครพนม ที่เข้าร่วมโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road) ทดลองใช้งาน ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร นำไปสู่การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว
“เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ได้ทดลองใช้ต่างชื่นชมว่าแพลตฟอร์มใช้งานง่าย สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งการที่แพลตฟอร์มนี้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันไลน์ยิ่งทำให้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในเรื่องความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น (เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความพร้อมในการติดตั้งแอปพลิเคชันใหม่) และเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างยินดีที่จะแนะนำให้คนรู้จักได้ใช้งานร่วมกันต่อไป นอกจากนี้การที่ระบบมีการ ‘ให้บริการในลักษณะกลุ่มพื้นที่’ ยังช่วยให้เกษตรกรรวมถึงผู้ใช้บริการจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม ได้ตระหนักถึงชุดข้อมูลความถี่และช่วงเวลาในการเกิดโรค ทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนเฝ้าระวังการระบาดของโรคข้าวเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี”
อย่างไรก็ตามแม้โรคข้าวจะเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผลผลิตในแต่ละรอบอย่างมาก แต่ในการเพาะปลูกข้าวยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่เกษตรกรต้องเผชิญ เช่น แมลงศัตรูพืช การขาดธาตุอาหาร ดังนั้นแล้วแพลตฟอร์มนี้จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบให้ครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
ผศ. ดร.สุจินต์ ชี้ว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดในการยืนหยัดพัฒนาระบบให้ครอบคลุมปัญหาการปลูกข้าว รวมถึงการให้บริการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว คือ ‘การได้มาซึ่งเงินทุน’ เพราะการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งด้านการรวบรวมข้อมูล การวิจัยและพัฒนาระบบ AI รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการให้บริการระบบดิจิทัล ดังนั้นแล้วในอนาคตจึงอาจมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าบริการจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เพื่อให้แพลตฟอร์มนี้เดินหน้าสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน
‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ คือหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของบูรณาการความเชี่ยวชาญระหว่างองค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่เกษตรกรไทย อีกทั้งยังเป็นกลไกที่เกื้อหนุนการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและเศรษฐกิจฐานรากไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี
หน่วยงานที่สนใจร่วมวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มติดต่อได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. สำหรับเกษตรกรที่สนใจใช้บริการ เข้าร่วมได้ผ่านการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์โดยแสกน QR Code ด้านล่าง และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ BCG Economy Model ได้ที่ www.bcg.in.th
เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ และเนคเทค สวทช.