ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามในตลาดโลกมีมูลค่านับล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดมากกว่า 40% รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง และน้ำหอมตามลำดับ ในขณะที่เทรนด์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่มุ่งไปหาผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและมีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง ‘การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง’ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากลจาก ‘FoodSERP’ แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันภายใต้ สวทช. โดยมุ่งใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
‘FoodSERP’ พร้อมให้บริการผู้ประกอบการไทยแบบครบวงจร
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยด้านส่วนผสมฟังก์ชัน (functional ingredient) มานานเกือบ 10 ปี เพราะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพืชสมุนไพร จุลินทรีย์ หรืออื่น ๆ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เนื่องจากขาดการเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้แล้วโดยแพลตฟอร์ม FoodSERP
“FoodSERP เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันแบบครบวงจร โดยรวบรวมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ด้านอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิตส่วนผสมฟังก์ชัน (functional ingredients) และสารออกฤทธิ์สำคัญ (active ingredients) รวมถึงโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการตั้งแต่การวิจัยพัฒนา วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดลองตลาด ขยายขนาดการผลิต ไปจนถึงขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์
“ความร่วมมือกับ TCOS ในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะช่วยปิดช่องว่างตรงกลาง ทำให้ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามสมบูรณ์ขึ้นและขับเคลื่อนไปอย่างถูกทิศทาง เพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับสารสกัดที่ได้มาตรฐานจากสมุนไพรไทยหรือการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ จนถึงเกษตรกร”
ชูสารสกัด ‘บัวบก-กระชายดำ’ ดันสู่ตลาดเวชสำอาง
ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนา functional ingredients จากวัตถุดิบสมุนไพรที่มีมากในประเทศสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ บัวบก ขมิ้นชัน และไพล โดยทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้ให้ความสำคัญและมุ่งศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรโดยเฉพาะบัวบกและกระชายดำ
“บัวบกเป็นพืชที่ปลูกเยอะมากในบ้านเรา ส่วนใหญ่นำมาบริโภคโดยตรง แต่ในต่างประเทศมีการใช้ประโยชน์สารสกัดจากบัวบกในผลิตภัณฑ์ความงามกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติชะลอวัย (anti-ageing) ค่อนข้างดี จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากบัวบก ส่วนกระชายดำเป็นที่รู้จักดีในด้านรับประทานเพื่อบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ แต่ยังไม่ค่อยนำไปใช้ในด้านเวชสำอาง นาโนเทค สวทช. จึงศึกษาและพัฒนาสารจากกระชายดำ โดยสามารถเพิ่มความเข้มข้นของสารสำคัญได้สูงถึง 80-90% และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าสารสกัดกระชายดำมีฤทธิ์ anti-ageing ดีเช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสใหม่ให้กระชายดำสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพื่อความงาม
“เมื่อเรามีกระบวนการสกัดที่ดี ควบคุมคุณภาพได้ ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดได้ว่าสารสกัดนั้นเหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อะไร ไม่ว่าจะเป็นด้านความงาม ด้านการดูแลสุขภาพหรือป้องกันโรค ทำให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าของสารสกัดในประเทศได้ และเมื่อเรามี functional ingredients แล้วพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายร้อยเท่า”
หนุนใช้ ‘จุลินทรีย์’ เป็นโรงงานผลิตสารออกฤทธิ์คุณภาพสูง
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน สวทช. ให้ข้อมูลว่า นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังมี functional ingredients และ active ingredients จำนวนมากที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์และใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม โดย active ingredients กลุ่มแรกที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์คือกลุ่มสารให้ความชุ่มชื้น เช่น กรดแล็กติก (lactic acid) กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) กลุ่มที่สองเป็น active ingredients ที่มีมูลค่าสูง เช่น เรสเวอราทรอล (resveratrol) โคเอนไซม์คิว-10 (coenzyme Q-10) และอีกกลุ่มหนึ่งคือ natural colors เช่น สารสีน้ำเงินอินดิโกอิดีน (indigoidine) จากแบคทีเรีย และสารสีแดงจากข้าวหมักด้วยเชื้อรากลุ่มโมแนสคัส (Monascus)
“การผลิตสารสำคัญจากจุลินทรีย์มีข้อดีคือเราสามารถขยายขนาดการผลิตได้ ควบคุมคุณภาพได้ ลดการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสารต่าง ๆ ที่มาจากแหล่งอื่นได้ และที่สำคัญคือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการทิ้งของเสียออกไป แต่จะกำจัดและควบคุมในกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการใช้กระบวนการทางชีวภาพเข้ามาช่วยในการผลิต active ingredients สำหรับกลุ่มเวชสำอาง และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือสารพลอยได้หรือบายโพรดักต์ (by-product) ที่เกิดขึ้น เช่น ในกระบวนการผลิตโพรไบโอติกจะมีบายโพรดักต์เรียกว่า ‘โพสต์ไบโอติก’ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ และกระบวนการทางชีวภาพที่มีการย่อยกรดอะมิโนจะได้เพปไทด์ต่าง ๆ เป็นบายโพรดักต์ สามารถนำไปใช้ฟื้นฟูสภาพผิวได้เช่นกัน”
ดร.กอบกุล ย้ำว่า “อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิต functional ingredients หรือ active ingredients จากจุลินทรีย์ ต้องมีมาตรฐานและต้องขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนักวิจัยและผู้ประกอบการในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ต้องเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งยังต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งความร่วมมือของ สวทช. กับ TCOS ครั้งนี้จะทำให้ FoodSERP มีข้อมูลต่าง ๆ มากเพียงพอในการออกแบบพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างครบวงจร และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และจำหน่ายออกสู่ตลาดได้”
ของดีต้องมี ‘เรื่องเล่า’ และคำนึงถึง ‘สิ่งแวดล้อม’
ลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) กล่าวว่า จากการได้มีโอกาสไปดูงานด้านสุขภาพและความงามในประเทศต่าง ๆ พบว่าหลายแห่งไม่ได้มองไปที่ตลาดเพียงอย่างเดียว แต่เขาจะมองไปที่เรื่องราวด้วย หากสิ่งนั้นมีเรื่องราวที่เล่าได้ยาวนาน มี story telling เขาจะสนใจนำมาศึกษาเพื่อค้นพบความลับที่อยู่ในนั้น และมักจะทำเป็นซีรีส์โดยค่อย ๆ ปล่อยผลิตภัณฑ์ออกมาทีละตัวและจะใส่นวัตกรรมเพิ่มเข้าไปในผลิตภัณฑ์ตัวถัดไป ทำให้มีเรื่องราวเล่าได้ต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์หรือสารสกัดพืชสมุนไพรไทยได้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ผลิตภัณฑ์
“นอกจากนี้เรายังต้องมองเทรนด์ของโลกด้วยว่าโลกตอนนี้กำลังตื่นตัวกันด้วยเรื่องอะไร สำหรับในปัจจุบันเรากำลังตื่นตัวในเรื่องของการทำให้โลกอยู่อย่างยั่งยืน ลดขยะ ลดการใช้พลาสติก ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตที่ลดความฟุ่มเฟือย ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ จนเกิดเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า ‘solid cosmetic’ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยเราจะต้องตื่นตัว ไม่ใช่เป็นเพียงแฟชั่น หากแต่ว่าเป็นความรับผิดชอบในระยะยาวที่เราต้องคำนึงถึงว่าแบรนด์ของเราจะสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันเรายังมีโอกาสในการรับจ้างผลิตเครื่องสำอางแบรนด์ต่างประเทศ เราจึงต้องคำนึงถึงโจทย์ต่าง ๆ ที่แบรนด์เขาให้ความสนใจด้วย”
ด้าน ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญในการทำ story telling คือต้องเล่าในสิ่งที่คนอยากจะฟัง และหัวใจหลักในการทำธุรกิจก็คือต้องฟังผู้บริโภคให้มาก เอาความต้องการของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง และเล่าเรื่องให้ตรงตามที่ใจเขาต้องการ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นจุดแข็ง
“การเปิดโอกาสให้แก่สตาร์ตอัปรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ได้มาร่วมกันคิดเพิ่มขึ้น จะช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสารสกัดของไทยเติบโตได้เร็วขึ้นและก้าวกระโดด ซึ่งการที่ สวทช. และ TCOS ได้มีความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัปรายใหม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองและเติบโตไปในอนาคตได้”
ท้ายสุด กฤษณ์ แจ้งจรัส อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าด้านเครื่องสำอางและความงามในระดับโลก แต่สินค้าส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เกาหลี หลายแบรนด์ใช้วัตถุดิบที่มีมากในประเทศไทยอย่างเช่น ซิกา (cica) จากบัวบก แต่ขณะเดียวกันปัญหาสำคัญในเรื่องวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ไปจัดแสดงในต่างประเทศได้จะต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็งรองรับ
“การที่ สวทช. กับ TCOS ได้ร่วมมือกันจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ อาจเป็นภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยจะเริ่มมีวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางเป็นของตัวเอง และมีไทยพาวิลเลียนที่จัดแสดง active ingredients ของไทยทั้งหมดอยู่ในงานระดับโลก”
เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.