อบรม โลหะวิทยาและการวิเคราะห์ความเสียหายของรางรถไฟ

เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยการวิเคราะห์ความเสียหายและวิศวกรรมการเชื่อถือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “โลหะวิทยาและการวิเคราะห์ความเสียหายของรางรถไฟ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 2 ใน 7 งานสำคัญที่เกิดขึ้นจากโครงการงบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานการตรวจสอบและซ่อมบำรุงทางรถไฟที่มีความลาดชันช่วงสายเหนือ ภายใต้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ได้แก่ MTEC, NECTEC, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, การรถไฟแห่งประเทศไทย (มักกะสัน) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในหลักสูตรนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมการขนส่งทางราง – ขร., สมาคมวิศวกรรมการขนส่งทางรางไทย – วศรท., การรถไฟแห่งประเทศไทย – รฟท., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย – MRTA, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จํากัด, บริษัท เอเชีย เอรา วัน จํากัด, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) – BEM, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) – BTS, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมทั้งหมด 28 คน

ทางทีมได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่อง ความปลอดภัยและการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ของทางรถไฟ โลหะวิทยาของเหล็กรางรถไฟ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การเกิด Decarburization ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณคาร์บอนในเนื้อเหล็ก ส่งผลต่อการลดความแข็งของผิวราง (Surface Hardness) การลดความแข็งแรง และอายุการใช้งานด้านความล้า (Fatigue Life) ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหา เช่น Corrugation, Rolling Contact Fatigue และอาจนำไปสู่ การตกราง (Derailment) ได้ในที่สุด

ซึ่งจากประสบการณ์กว่า 25 ปีในงานวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนโลหะของทีมฯ พบว่าหลายกรณีความเสียหายเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของวัสดุตั้งต้น แม้ว่าจะผ่านมาตรฐานทางเทคนิคก็ตาม แต่โครงสร้างจุลภาคที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นต้นเหตุสำคัญที่กระทบต่อความปลอดภัย (specification ตาม data sheet เช่น ส่วนผสมทางเคมี ความแข็ง ความต้านทานแรงดึงผ่านหมด แต่โครงสร้างจุลภาคไม่ผ่าน)

การสัมมนาครั้งนี้จึงได้แนะนำ วิธีการตรวจรับรางที่มีความละเอียดมากขึ้น ด้วยเทคนิคที่ใช้เครื่องมือที่สามารถให้บริการตามภูมิภาคต่าง ๆ และสามารถเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้ ทุกท่านยังได้ศึกษา ตัวอย่างกรณีความเสียหายของราง โดยเฉพาะกรณีการแตกหัก ซึ่งเมื่อมีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เราสามารถระบุ Root Cause ได้อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนวทางในการเก็บข้อมูลความเสียหายอย่างเป็นระบบด้วย Digital Platform ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการวางแผน Predictive Maintenance เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานระบบราง  ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสียหายและวิธีแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติช่วงบ่ายของแต่ละวัน

ทางทีมตั้งใจทำโครงการดังกล่าวเต็มกำลังความสามารถและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะสนับสนุนการใช้ร่างมาตรฐานที่นำเสนอในการตรวจรับรางใหม่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปใช้พัฒนาองค์กรและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป

ทีมฯ ขอขอบคุณ QES Thailand และ STP Advance Products Co.,Ltd ที่สนับสนุนเครื่องมือและบุคลากรในการอบรมครั้งนี้

สนใจงานทดสอบ วิเคราะห์ความเสียหาย งานวิจัย ร่วมวิจัย อบรมและบรรยาย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สยาม แก้วคำไสย์
โทร 0 2564 6500 ต่อ 4736
e-mail : siam.kae@mtec.or.th
ทีมวิจัยการวิเคราะห์ความเสียหายและวิศวกรรมการเชื่อถือ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)