ม.มหิดล ขอเชิญร่วมประชุมวิชาการประจำปีศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ครั้งที่ 10 ประจำปี 2565 เรื่อง “ก้าวผ่านวิกฤติ COVID-19 กับระบบสุขภาพวิถีใหม่”

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ศิริราช-กาญจนา” สามารถครองใจชาวศาลายา และพื้นที่โดยรอบ คือ การสร้างความผูกพัน และเข้าถึงจิตใจผู้รับบริการ

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ “ศิริราช-กาญจนา” ได้กล่าวถึงหัวใจของการให้บริการของศูนย์การแพทย์ฯ คือ การปฏิบัติต่อผู้มารับบริการดุจญาติมิตร จนรู้สึกว่า “ศิริราช-กาญจนา” คือคนในครอบครัว ภายใต้มาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) จาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) มาตรฐาน ISO 15189 และ ISO 15190 : 2013 จาก สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข

          แม้จะสิ้นสุดการรักษาแล้ว พบว่าผู้ที่เคยเข้ารับบริการจาก “ศิริราช-กาญจนา” เกือบทุกราย ได้กลับมาแวะเวียนไปมาหาสู่กันเป็นประจำ จนกลายเป็น community แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะทั้งทาง online และ onsite ที่ได้พักผ่อนหย่อนใจ จากการออกแบบให้ตัวอาคารมีครบพร้อมทั้งคลินิกเฉพาะทางที่ทันสมัยซึ่งสามารถใช้บริการได้ทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมทั้งหน่วยฉุกเฉิน (ER) ที่มีแพทย์และพยาบาลพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสถานที่จอดรถที่กว้างขวาง ร้านอาหาร ร้านกาแฟและเครื่องดื่ม ตลอดจนร้านจำหน่ายสินค้าชุมชนต่างๆ คอยให้บริการอย่างอบอุ่น

          ที่ผ่านมา “ศิริราช-กาญจนา” ให้บริการโดยใช้กลยุทธ์การสื่อสารในเชิงรุก ที่ไม่ได้รอให้ผู้ป่วยเดินเข้ามารับบริการเพียงฝ่ายเดียว แต่พร้อมลงพื้นที่ให้ชุมชนได้เข้าถึงการบริการรักษาพยาบาลด้วยความเอื้ออาทร จนสามารถสร้างรอยยิ้มและความประทับใจได้แทบทุกครั้ง

          แม้ในยามทั่วโลกประสบภาวะวิกฤติ COVID-19 ทำให้ทุกสถานพยาบาลต้องหันมาใช้ระบบให้บริการแบบการแพทย์ทางไกล ก็สามารถทำได้อย่างเต็มกำลัง ซึ่ง “เสียงจากผู้รับบริการ” หรือ VOC – Voice Of Customer ที่ได้ คือ “แรงศรัทธา” จากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจนหายแล้วจำนวนมาก ได้ติดต่อมายัง “ศิริราชมูลนิธิ” ในฐานะผู้บริจาค เพื่อ “ส่งต่อการให้” อย่างไม่มีวันสิ้นสุด สู่ “ศิริราช-กาญจนา” ที่เหมือนเป็นแขนขาของ “ศิริราช”

          รางวัลเชิดชูเกียรติหน่วยงานสนับสนุนบริการถ่ายทอดการสื่อสารดีเด่น (TTRS OK) ประจำปี 2564 ที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) มอบให้ “ศิริราช-กาญจนา” เมื่อเร็วๆ นี้ สามารถการันตีได้ถึงความมุ่งมั่นจริงใจที่ออกดอกออกผลจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้มาใช้บริการ โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร “ศิริราช-กาญจนา” พร้อมยืนหยัดเคียงข้างมอบบริการที่จริงใจ และเป็นที่พึ่งพิงเคียงข้างประชาชนชาวไทย ทั้งในชุมชนศาลายา และพื้นที่โดยรอบต่อไป

          เพื่อการส่งต่อองค์ความรู้ที่บ่มเพาะด้วยประสบการณ์อันทรงคุณค่า 30 – 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 นี้ “ศิริราช-กาญจนา” พร้อมเปิดเวทีประชุมวิชาการประจำปีศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ครั้งที่ 10 ประจำปี 2565 เรื่อง “ก้าวผ่านวิกฤติ COVID-19 กับระบบสุขภาพวิถีใหม่” (Achieving the Closet to Pre-COVID-19 with New Normal Practice) ให้นักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนผู้สนใจได้เข้าฟังการแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ประจำปี 2565 “Resilience & Agility : วิถีเส้นทางสู่องค์กรที่เป็นเลิศหลังก้าวผ่านวิกฤติ COVID-19” โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์บริหารจัดการระหว่างการเกิดโรคระบาด COVID-19 กับวิทยากรชั้นนำ อาทิ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และ นายแพทย์ชัยธวัช ชื่อลือชา แพทย์ประจำแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน “ศิริราช-กาญจนา” โดยจัดแบบ Onsite ที่ห้องประชุมกาญจนาภิรมย์ ชั้น 1 และ Online ผ่านระบบ Zoom

          ร่วมเสนอผลงานและบทความทางวิชาการได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และลงทะเบียนออนไลน์ได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565 ทาง www.gj.mahidol.ac.th/tech/main

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author