ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคการวิจัยนวัตกรรมที่มีการประยุกต์ใช้การพิมพ์สามมิติในการพัฒนาต้นแบบวัสดุ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้ความคิดไม่ได้อยู่แต่เพียงในกระดาษ หากเกิดเป็นรูปร่างที่จับต้องได้ และจะทำให้ความฝันของผู้สร้างกลายเป็นจริงได้เร็วขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ในงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ และงานวิจัยคุณภาพ ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย มีผลงานที่น่าสนใจมากมาย อาทิ งานพิมพ์สามมิติ ที่สามารถพิมพ์วัสดุทนไฟที่มีความสามารถในการนำไฟฟ้า และทนร้อนในเตาเผากว่าพันองศาได้ หรือการใช้การพิมพ์สามมิติในกระบวนการผลิตชิพความจำ ร่วมกับเทคนิค Lithography หรือการพิมพ์สามมิติวัสดุประเภทเซนเซอร์จากวัสดุกึ่งตัวนำ และการพิมพ์สามมิติด้วยเจลซึ่งสามารถผสมสารใดๆ เข้าไปเพื่อปรับคุณสมบัติของวัสดุให้เป็นไปตามต้องการ
นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เพื่อวิจัยในการสร้างผิวหนังหุ่นยนต์ (Robotic Skin) ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำให้หุ่นยนต์รู้สึกถึงสัมผัส รู้สึกเจ็บ รู้ร้อน รู้หนาว รู้สึกเปียก รู้สึกแห้ง ตามแบบที่มีในผิวหนังมนุษย์
แม้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากมาย แต่ก็ใช่ว่าการพิมพ์สามมิติจะสามารถเข้ามาแทนที่กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เพราะยังมีข้อจำกัดจากการที่กระบวนการพิมพ์สามมิติต้องใช้เวลานานในการพิมพ์ขึ้นรูปเพียงหนึ่งชิ้น ซึ่งเทียบไม่ได้กับกระบวนการอื่นในเชิงอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตได้เป็นหมื่นชิ้นภายในระยะเวลาอันสั้น (mass production)
ดังนั้นกระบวนการผลิตจึงเหมาะสำหรับการทำเป็นนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งตลาดด้านการพิมพ์สามมิติยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างต้นแบบได้อย่างรวดเร็วและประหยัดทำให้เทคนิคการพิมพ์สามมิติได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งในงานภาคอุตสาหกรรม และในด้านการวิจัยนวัตกรรมในฐานะหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สามารถสร้างต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว (Rapid prototyping) และกระบวนการพิมพ์สามมิติก็ยังมีการวิจัยพัฒนาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลดเวลาในการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง
การพิมพ์สามมิติยังมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย หรือการต่อยอดสู่สตาร์ทอัพ นับเป็นเทคโนโลยีที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนการวางตลาด และนำไปใช้จริง
จากผลงานในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (เมธีนักวิจัย) ประจำปี 2565 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยในมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย การพิมพ์สามมิติแท้จริงแล้ว คือการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตวัสดุ
ดังนั้นการพิมพ์สามมิติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในปัจจุบันระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ใช้แรงงานคนน้อยลง หรือบางธุรกิจอาจแทบไม่ใช้คนเลย ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะส่งผลกระทบกับสังคมอย่างมากมายและรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน หากสามารถนำไปใช้ได้ถูกจุด จะสร้างประโยชน์ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจชาติได้ต่อไปอีกมากมายมหาศาล
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210