กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge โดยมีบริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ให้การสนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมหุ่นยนต์แอสโทรบี (Astrobee) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ร่วมกับตัวแทนเยาวชนจากทั่วโลกในเดือนตุลาคม 2567
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ร่วมจัดโครงการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว สำหรับกติกาในปีนี้ ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิกจำนวน 3-4 คน และกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยสมาชิกในทีมอยู่ต่างสถาบันการศึกษาและระดับชั้นเรียนได้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc-2024/ ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ก่อนเวลา 22:00 น.
“สำหรับรูปแบบการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเทมเพลตของแจ็กซา เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโทรบีในระบบจำลอง (Simulation) ซึ่งสร้างสถานการณ์จำลองเกิดเหตุอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ของนักบินอวกาศหายไป และต้องรีบค้นหาให้พบเพื่อทำการทดลองให้ทันเวลา ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA สั่งการให้หุ่นยนต์แอสโทรบีเคลื่อนที่ไปค้นหาอุปกรณ์ เมื่อพบแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าไปถ่ายภาพและกลับมารายงานผลให้นักบินอวกาศทราบ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความสมบูรณ์ของภารกิจและเวลาที่ใช้ปฏิบัติภารกิจจนเสร็จสิ้น
ทั้งนี้การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติในเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ซึ่งในการแข่งขันจะมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และไทย โดยมีนักบินอวกาศของนาซา เป็นผู้ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของเยาวชนไทยที่จะได้ฝึกฝนทักษะทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตาและมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต”
ด้าน นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้บริหาร บริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเสริมว่า การเขียนโปรแกรมขึ้นไปใช้งานสำหรับหุ่นยนต์ในสถานีอวกาศฯ ถือเป็นภารกิจที่น่าสนใจและมีความท้าทาย สามารถพิสูจน์ได้ถึงทั้งฝีมือ และความละเอียดรอบคอบ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของการพัฒนาอัลกอริทึม, ด้านแมคคาทรอนิคส์ ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านการบินและอวกาศ เพราะต้องสร้างผลงานให้กับหุ่นยนต์ที่เราไม่เคยเห็น (physically) เพื่อให้ทำภารกิจได้อย่างดีที่สุด ซึ่งหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) เป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและเป็นศูนย์วิจัยที่พัฒนาอัลกอริทึมทั้งทางด้านการบินและอวกาศ ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทย ที่จะสามารถเข้าไปมีประสบการณ์กับงานในระดับโลก
ด้าน นายจุติวัฒน์ เสงี่ยมศักดิกร รองกรรมการผู้จัดการสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge นั้น ช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนั้นได้มีพื้นที่ทดลองความรู้ความสามารถด้าน STEM เพื่อต่อยอดไปสู่องค์ความรู้ในการเขียนโปรแกรม การสร้างหุ่นยนต์ การต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศ เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเช่น อวกาศ ไซเบอร์และ Robotics
สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการพัฒนา Human Capital เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน Competitiveness ให้องค์กรและประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทางบริษัทอยากมีส่งนร่วมในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตเหล่านี้จนเราสามารถมีอิสรภาพทางเทคโนโลยี Technological Independence ได้ในอนาคตอันใกล้ผ่านการสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาศแสดงฝีมือในระดับสากล”
ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc-2024/, เฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันและได้รับบัญชีเข้าสู่ระบบแล้ว เข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเครื่องแม่ข่าย (Server) ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp