ระดม’ต้นทุนสิ่งแวดล้อม’ ใกล้เต็มแต้ม 9 to Zero ก้าวสู่ศูนย์

          ปีแห่งการบรรลุเป้าหมาย 9 to Zero เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ ทั่วโลกกำหนดไว้ที่ พ.ศ. 2573 โดยนับวันยิ่งจะกลายเป็น “เรื่องใกล้ตัว” ที่เกี่ยวข้องกับการ “ยกระดับคุณภาพชีวิต” ของคนบนโลกด้วย

          สถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่นอกจากการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อร่วมต่อลมหายใจโลกแล้ว ภารกิจ 9 to Zero ยังหมายถึงการสร้าง “ความเชื่อมั่น” ที่มีต่อสถาบันฯ ในเวทีโลกอีกด้วย

          รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความคืบหน้าภารกิจเพื่อการบรรลุเป้าหมาย “9 to zero” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่ายังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง ภายใต้หลักการ “ลดปล่อย” และ “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจก ที่ยังคงดำเนินการควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลืออีกเพียงร้อยละ 35 ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมาย “9 to zero” ได้ร้อยละ 100

          ล่าสุดมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าใกล้เป้าหมาย “9 to zero” คือการร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจพื้นที่ป่าในวิทยาเขต 3 แห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ เพื่อคำนวณ ‘ต้นทุนสิ่งแวดล้อม’ พบว่ายังคงมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจากพื้นที่ป่ารวม 6,719 ไร่ สามารถคิดเป็นปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้จำนวน 94,930.25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

          โดยสามารถคว้าใบประกาศเกียรติคุณรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS – Low Emission Support Scheme) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปเมื่อเร็วๆ นี้

          ในส่วนของการ “ลดปล่อย” ณ พื้นที่ศาลายา ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นกัน โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารของส่วนงานต่างๆ ทั่ววิทยาเขตศาลายา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น พร้อมใช้งานได้จริงร้อยละ 100

          ทันทีที่ได้รับอนุมัติจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจากนั้นคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นการ “ดูดกลับ” ได้ประมาณร้อยละ 5 – 10

          ในปี 2566 มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้วางแผนจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักศึกษา บุคลากร รวมถึงประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายนี้

          นอกจากนี้ ยังได้มีการรณรงค์ให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งที่เป็นสวนแนวตั้ง และในส่วนของ “Eco Park” ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

          เพื่อให้แน่ใจว่าจะพร้อมเป็น “สิ่งที่ดีที่สุด” มอบเพื่อชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ให้ได้มี “โอเอซิส” หรือแหล่งนันทนาการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ไว้ “ฟอกปอด” ให้สะอาดด้วยอากาศบริสุทธิ์ที่จะทำให้ลมหายใจปราศจากมลพิษ

          โดยไฮไลท์จะอยู่ที่ “สวนดอกไม้” ที่ตกแต่งด้วย “มาสคอตนักกษัตร” ของแต่ละปี โดยมีตัวเด่นเป็น “กระต่าย” ซึ่งเป็นตัวแทนของนักกษัตรในปี 2566

          นับจากนี้ “9 to Zero” จะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมมุ่งมั่นผลักดันให้กลายเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกัน” หากต่อไปต้องอยู่บนโลกที่เสื่อมโทรมซึ่งหาความสุขไม่ได้ แม้รวยเพียงใดก็จะหาความยั่งยืนต่อไปไม่ได้

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ เขียนข่าว และภาพถ่ายโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author