คนพิการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่มีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งในการเริ่มต้นธุรกิจใดๆ เพียงเงินทุนที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาอย่างยาวนานด้วยความยากลำบาก เพื่อก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ ไม่อาจทำให้ความฝันเป็นความจริงได้ หากไม่ได้ใช้ “หัวใจของการเป็นผู้ประกอบการ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีฝ่ายงานสนับสนุนการศึกษาและวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีฝ่ายงานสนับสนุนการศึกษาและวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) นำทีมผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม “โครงการพัฒนาคลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ” นำเสนอผลงานวิจัยเพื่อสังคม ซึ่งเป็น 1 ใน 18 ผลงานวิจัยคุณภาพที่ได้รับคัดเลือกให้เสนอในงาน “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม ประจำปี 2565” (Mahidol University Social Engagement Forum : MUSEF 2022) ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
“โครงการพัฒนาคลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ” เป็นผลงานวิจัยเพื่อสังคมโดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมผู้พิการทางการได้ยินแห่งประเทศไทย
และได้เผยแพร่แล้วทาง YouTube “ภาษามือเรื่องการจัดการ” (Deaf Sign Language) เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินทั่วโลกได้เรียนรู้ เสริมทักษะการสื่อสาร เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ มากถึง 70 คำศัพท์ แสดงผ่านคลิปวีดีโอ ที่มีทั้งภาษามือ บรรยายด้วยภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้อย่างครบครัน
การจัดเรียงคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ เริ่มต้นโดยให้คำว่า “การจัดการ” (Management) เป็นปฐมบทสู่การเรียนรู้ศาสตร์แห่งการบริหารบุคคล ภายใต้การวางแผน และควบคุม เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งคำศัพท์เฉพาะ อาทิ “บทวิเคราะห์สวอท” (SWOT) ซึ่งเป็น “หัวใจของการเป็นผู้ประกอบการ”
โดย “S” ย่อมาจากคำว่า “Strengths” หรือ “การวิเคราะห์จุดแข็ง” “W” ย่อมาจากคำว่า “Weakness” หรือ “การวิเคราะห์จุดอ่อน” “O” ย่อมาจากคำว่า “Opportunities” หรือ “โอกาส” และ “T” มาจากคำว่า “Threats” หรือ “อุปสรรค” ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า
ก้าวต่อไป CMMU เตรียมร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายผลโครงการฯ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นตัวช่วยในการเพิ่มโอกาส และช่องทางในการเรียนรู้ภาษามือเรื่องการจัดการให้ขยายวงกว้างออกไปได้มากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ที่ผู้ใช้จะสามารถสแกนผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อเชื่อมต่อคลังข้อมูลคลิปวีดีโอภาษามือ ให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถเข้าใจและสื่อสารได้ในทันทีผ่านสมาร์ทโฟน
ซึ่งผลงานนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ภาษามือเรื่องการจัดการนี้ สร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร ทีมวิจัยหวังเพียงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยคนพิการให้สามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
“ทั่วโลกมีผู้พิการทางการได้ยิน 300 ล้านคน ขอเพียงแค่เปอร์เซ็นต์เดียวของคนทั้งโลก ที่จะได้รับโอกาสยกระดับขึ้นเป็นผู้ประกอบการ พัฒนา “ความบกพร่อง” ให้เป็น “ต้นทุน” ของประเทศ”
“เชื่อมั่นว่าจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ โดยที่ทั้งคนพิการและคนทั่วไปก้าวไปด้วยกันอย่างเท่าเทียม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุริม โอทกานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210