โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามตำนานกรีกโบราณ เจ้าหญิงลีดา (Leda) แห่งเมืองอีโตเลีย (Aetolia) ผู้งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นผมดำสลวยและผิวขาวราวหิมะ ได้อภิเษกสมรสกับพระราชาทินดารีอัส (Tyndareus) แห่งเมืองสปาร์ตา (Sparta)
ซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้ากรีก เห็นราชินีลีดาก็เกิดพิศวาส จึงทรงทำอุบายแปลงร่างเป็นหงส์ (swan) และทรงให้นกอินทรีของพระองค์ แกล้งทำเป็นไล่จิกหงส์ จนหงส์ตกลงมาในอ้อมพระกรของราชินีลีดา
ราชินีลีดาทรงสงสารหงส์ตัวนี้มาก เลยทรงดูแลด้วยพระองค์เอง ในคืนนั้นที่ราชินีลีดาบรรทมร่วมกับราชาทินดารีอัส หงส์ก็แอบมีสัมพันธ์กับราชินีลีดาด้วย ทำให้ราชินีลีดาทรงพระครรภ์ แล้วทรงคลอดออกมาเป็นไข่ 2 ฟองใหญ่
ไข่ใบหนึ่งเมื่อฟักออกมาเป็นพระโอรสและพระธิดาของซูสคือ เจ้าชายพอลลักซ์ (Pollux) และเจ้าหญิงเฮเลน (Helen) ซึ่งต่อมาเรียกว่า เฮเลนแห่งทรอย (Helen of Troy) ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้เกิดสงครามครั้งใหญ่คือ สงครามกรุงทรอย (Trojan War)
ส่วนไข่อีกใบฟักออกมาเป็นพระโอรสและพระธิดาของพระราชาทินดารีอัสคือ เจ้าชายแคสเตอร์ (Castor) และเจ้าหญิงไคลเทมเนสตรา (Clytemnestra)
เจ้าชายพอลลักซ์และเจ้าชายแคสเตอร์เป็นที่มาของกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) สามารถอ่านนิทานดาวเรื่อง “กลุ่มดาวคนคู่ ที่มาของเดือนมิถุนายน” ได้จากนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 99 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 หน้า 56-59
เพื่อระลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซูสทรงเสกให้มีกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) ไว้บนท้องฟ้า
ดาวสว่างในกลุ่มดาวหงส์มีรูปร่างคล้ายไม้กางเขน จึงเรียกดาวเรียงเด่น (asterism) ในกลุ่มดาวหงส์ว่า กางเขนเหนือ (Northern Cross) เนื่องจากอยู่ในท้องฟ้าด้านทิศเหนือ คู่กับกลุ่มดาวกางเขนใต้ (Crux หรือ Southern Cross) ที่อยู่ด้านทิศใต้
เราสามารถเห็นกลุ่มดาวหงส์ได้ด้วยตาเปล่า แม้ในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ ถ้าเราออกไปดูในที่มืดสนิทไกลจากเมือง เราจะเห็นกลุ่มดาวหงส์บินอยู่ในทางช้างเผือก จึงเป็นกลุ่มดาวที่สามารถใช้ช่วยหาทางช้างเผือกได้ บริเวณใจกลางทางช้างเผือกที่เห็นทางช้างเผือกชัดที่สุดอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ไม่ไกลจากกลุ่มดาวหงส์
ในเดือนตุลาคมช่วงหัวค่ำกลุ่มดาวหงส์จะอยู่ทางทิศเหนือ
ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหงส์คือ ดาวเดเนบ (Deneb) หรือดาวหางหงส์ มีอันดับความสว่างหรือโชติมาตรปรากฏ 1.25 เป็นหนึ่งในดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาว อ่านเรื่องสามเหลี่ยมฤดูหนาวได้ในนิทานดาวเรื่อง “กลุ่มดาวพิณ” นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 114 เดือนกันยายน พ.ศ. 2565 หน้า 42-45
ภาพกลุ่มดาวหงส์
ที่มาภาพ : สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU)
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบหลุมดำครั้งแรกชื่อ Cygnus X-1 ในกลุ่มดาวหงส์เมื่อปี พ.ศ. 2507
ดาว 61 ในกลุ่มดาวหงส์ (61 Cygni) เป็นดาวฤกษ์ดวงแรก (ไม่นับดวงอาทิตย์) ที่นักดาราศาสตร์สามารถวัดระยะทางจากโลกได้ในปี พ.ศ. 2381 โดยใช้วิธีคำนวณจากมุมตำแหน่งดาวที่เปลี่ยนไปเนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ (stellar parallax) ตอนแรกวัดได้ 10.4 ปีแสง ปัจจุบันปรับเป็น 11.4 ปีแสง
ภาพท้องฟ้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 20:00 น. กลุ่มดาวหงส์จะอยู่ทางทิศเหนือ
ที่มาภาพ : แอป Celestron SkyPortal
สิ่งหนึ่งที่น่าดูในกลุ่มดาวหงส์คือดาวคู่ที่เรียกว่า อัลบิรีโอ (Albireo) ที่ดาวบีตา (Beta Cygni หรือ β Cyg) ตรงหัวหงส์ เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นดวงเดียว แต่ถ้ามองด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวจะเห็น 2 ดวง ดวงหนึ่งสีส้ม อีกดวงสีฟ้า สวยงามมาก
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยาม “หงส์” ว่า เป็นนกจำพวกเป็ดขนาดใหญ่ นำเข้ามาในประเทศไทย หรือเป็นนกในนิยาย ตระกูลสูง เสียงไพเราะ เป็นพาหนะของพระพรหม หรือเป็นบุคคลในชาติตระกูลสูง และเปรียบการเดินงามสง่าว่าเป็นการเดินของหงส์
ชาวจีนถือว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง และมังกรเป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย
ในประเทศพม่ามีเมืองชื่อ “หงสาวดี” หรือพะโค (Bago หรือ Pegu) เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ มีตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาและทรงเห็นหงส์สองตัวเล่นน้ำ จึงทรงทำนายว่าเมืองนี้จะเจริญรุ่งเรือง ชาวมอญจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์