มหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง ภาค 7

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


“ยาคุมอาหารกับการจัดการมารโลหิต”

 

          เสียงเตือนในเฟซบุ๊กดังขึ้นเบา ๆ  ใครไม่รู้แอดเฟรนด์เข้ามาใหม่ ผมเปิดดูภาพโพรไฟล์เห็นเป็นหญิงสาวหุ่นดีหน้าตาสะสวย

          นึกว่าเป็นคนรู้จัก ก็กดรับแอดไป ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ถึงนาที สาวเจ้าก็ทักมา

          “สวัสดีค่าาา ชื่ออะไรคะ”

          เจอเเบบนี้เข้าไปเริ่มงงสิครับ “หรือว่าคอลล์เซนเตอร์ ?” ผมคิด ก่อนที่จะถามกลับไป “แอดมาจากไหนครับเนี่ย”

          “อ๋อ… พอดี ผึ้ง (นามสมมติ) อยากแนะนำวิธีการทานอาหารที่ถูกวิธี เพื่อคุมน้ำหนักน่ะค่ะ” หญิงสาวพิมพ์ตอบมา

          “ขอบคุณนะครับ แต่ผมไม่สนใจอะครับ” ผมตอบด้วยความเซ็ง นึกว่าจะมีสาวมาหลงเสน่ห์ ที่ไหนได้มาขายคอร์สลดน้ำหนักซะงั้น

          “ไม่เป็นไรค่า งั้นมีเพื่อนหรือใครที่สนใจลดน้ำหนัก แนะนำผึ้งหน่อยนะคะ”

          น่านนน… ขายไม่ได้ ยังมีความพยายามจะใช้เราเป็นดาวน์ไลน์อีก บล็อกสิครับ รออะไร

          เจ็บใจเล็ก ๆ เหมือนโดนย้ำเตือนเรื่องหุ่น แต่ทำไงได้ เมื่อเทรนด์ชายหุ่นหมีกำลังมา

          แอดลูกโซ่ลดความอ้วน ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงงานวิจัยสุดเพี้ยนของเจ้าแม่ยุง เลสลี วอสแชลล์ (Leslie Vosshall) จากร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University)

          หลัง ๆ ผมตามอ่านงานของเลสลีบ่อยเพราะชื่นชอบไอเดียในการวิจัยที่ลงดีเทลได้อย่างลุ่มลึก เธอและทีมของเธอแทบทุกคนมีแนวคิดดี ๆ ที่จะเปิดทางให้เราสามารถทำความเข้าใจกลไกการล่าเหยื่อที่ซับซ้อนของยุงได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น

          พวกเธอสนใจยุงตัวเมียเป็นพิเศษ เพราะยุงสาวเท่านั้นที่จะสวมวิญญาณแวมไพร์ไล่ล่าเลือดมนุษย์ พวกเธอต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อสร้างไข่

          ในวัยเจริญพันธุ์ พวกเธอจะคลั่งไคล้คาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นกาย และไออุ่น หลังจากเข้าจู่โจม พวกเธอจะสูบกินจนอิ่มหนำก่อนที่จะผละจากไป

          ด้วยน้ำหนักที่น้อยกว่าหนึ่งในหมื่นของออนซ์ และสปีดของการบินแค่ราว ๆ สามกิโลเมตรต่อชั่วโมง ยุงสาวสามารถสร้างความเสียหายได้มหาศาลกับมวลมนุษยชาติ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ทุกคนกำลังวิตกกังวลอยู่กับการรับมือไวรัสก่อโรคโควิด 19 ยุงสาวได้แผลงฤทธิ์กระจายเชื้อก่อโรคร้ายมากมายมหาศาลอย่างน่าสะพรึงเกินจินตนาการ

          ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด 19 ยิ่งวิกฤตสาหัส เพราะนอกจากจะต้องผจญภัยกับไวรัสตัวแสบแล้ว เชื้อมาลาเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ ก็ดาหน้าเข้ามาจัดหนักซ้ำเติมมวลมนุษยชาติเช่นกัน

          ว่ากันตามรายงานมาลาเรียโลกประจำปี พ.ศ. 2564 (2021 World Malaria Report) แค่ พ.ศ. 2563 ปีเดียวก็ติดไปกว่า 241 ล้านเคส มากกว่าปี พ.ศ. 2562 ถึง 14 ล้านเคส ซึ่งก็เป็นผลทางอ้อมมาจากวิกฤตโควิด 19 ที่ทำให้การวินิจฉัยและการรักษานั้นทำได้ไม่ทันท่วงที จำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ย้ำชัดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะจริงจังกันเสียทีกับการหายุทธวิธีกำราบมาลาเรียให้สิ้นซาก ทว่าการเปิดศึกกับมาลาเรียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

          องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประมาณการณ์เอาไว้ว่า ถ้าหากเราอยากลดจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียลงไปให้ได้สัก 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2575 จำนวนงบประมาณที่ต้องใช้น่าจะตกอยู่ราว ๆ เกือบเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ เกือบสองแสนเจ็ดหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

          แน่นอนว่าการหางบประมาณขนาดนั้นไม่ง่ายแน่นอน แต่ถ้าไม่ร่วมลงขัน ท้ายที่สุดถ้ามันหลุดไปเป็นการระบาดใหญ่ที่ใหญ่กว่านี้ ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเดือดร้อนกันได้หมด

          ตอนนี้หลายประเทศในโซนแอฟริกาได้ร่วมกับองค์กรนานาชาติและบริษัทยายักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งเปิดตัวแถลงข่าวเรื่องกองทุนต้านมาลาเรีย ที่ตอนนี้พร้อมลุยแล้วด้วยงบกว่าสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

          แม้จะยังไม่พอตามที่ WHO ได้ประมาณการณ์เอาไว้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่ายินดี 

          แต่มองอีกมุม บางทีการกำจัดมาลาเรียอาจจะไม่ต้องมุ่งมั่นกำจัดเชื้อปรสิต ในมุมของเลสลี ถ้าเราหยุด “ยุงสาว” พาหะจอมแสบของมันได้ มาลาเรียก็อาจจะจบเห่ได้เหมือนกัน

          จะว่าไปยุงก็ไม่ต่างจากสัตว์อื่น ถ้ามันอิ่ม มันจะอืด และไม่อยากจะกินอะไร อุปมาเหมือนคนที่เพิ่งจัดเต็มบุฟเฟต์แบบกะเอาให้คุ้ม ไม่ต้องกินอะไรไปอีกสามวัน

          “เสืออิ่มไม่ไล่ล่าหาอาหารฉันใด ยุงอิ่มก็ไม่ระรานเพื่อดูดเลือดฉันนั้น”

          ก็ถ้าอาหารเบ่งบานถึงคอหอย ใส่อะไรลงไปก็ล้น เป็นใครคงไม่มีแรงใจจะไปล่า และนั่นอาจจะหมายความว่า “ยุงอิ่ม” ก็คือยุงที่ปลอดภัย

          เลสลีคุยกับนักวิจัยโพสต์ดอกของเธอ ลอรา ดูวัลล์ (Laula Duvall) ถึงความเป็นไปได้

          “นักวิทยาศาสตร์ฉีดสารจำพวกที่คล้าย ๆ โปรตีนที่เรียกว่านิวโรเปปไทด์เข้าไปกระตุ้นโปรตีนตัวรับเฉพาะบางตัวในยุง และช่วยยืดความรู้สึกอิ่มหนำสำราญได้มานานแล้ว” ลอราเผย “แต่คู่เปปไทด์-รีเซปเตอร์ที่เป็นไปได้นั้นมียาวเหยียด ไม่รู้ว่าเป็นตัวไหนแน่ที่ส่งผล เราต้องการกรรมวิธีที่ดีกว่านี้ที่จะเลือกเฟ้นสารที่ประสิทธิภาพในการสะกดความอยากอาหารของยุงตัวเมีย เพื่อตัดตัวอื่น ๆ ออกไป จะได้ลดผลกระทบข้างเคียงที่ไม่คาดฝันออกไปได้

          โชคดีที่สารนิวโรเปปไทด์ที่สร้างเอฟเฟกต์อิ่มอืดนั้นคล้าย ๆ กันหมดในสัตว์ สืบค้นจากตัวอื่น ๆ ลอราก็เริ่มจะเดาได้ว่าตัวไหนที่น่าจะใช่ และตัวไหนน่าจะตัดออกได้ เธอสนใจเปปไทด์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า นิวโรเปปไทด์วาย (neuropeptide Y) หรือ NPY เป็นพิเศษ เพราะโปรตีนตัวรับของ NPY ในคนส่งผลต่อความกระหายของกิน และที่สำคัญ เอามาใช้เป็นเป้าหมายในการออกแบบยาที่ทำให้รู้สึกอิ่มอืด ไม่อยากอาหารเพื่อคนที่อยากคุมน้ำหนักเรียบร้อยแล้วด้วย

          ลอราเชื่อว่าในยุงก็น่าจะมีตัวรับ NPY ไม่ต่างจากคน และยานี้น่าจะใช้กับยุงได้เช่นกัน แล้วพวกเธอก็เจอแจ็กพอต สมมติฐานของลอราเป็นจริง

          “เราทั้งดีใจและทึ่งมากที่ยาที่ออกแบบมาให้ออกฤทธิ์กับความอยากอาหารในคนจะทำงานได้อย่างเพอร์เฟกต์ในการระงับความกระหายเลือดของยุง” เลสลีกล่าว

          พวกเธอผสมยาลดความอ้วนในน้ำเกลืออุ่นให้ยุงกิน แม้จะไม่ได้มีสารอาหารอะไรในน้ำเกลือที่พวกมันดูดเข้าไปนอกจากตัวยา NPY ยุงที่ซดน้ำเกลือก็ดูจะลดความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะไล่ล่าดูดเลือดคน บางตัวถึงขนาดเมินเลือดจริง ๆ ไปเลยเสียด้วยซ้ำ

          เลสลีและทีมทดลองสกรีนหายีนในยุงที่เกี่ยวกับการสร้างโปรตีนตัวรับที่น่าจะจับกับนิวโรเปปไทด์ เพื่อค้นหาว่าโปรตีนใดกันแน่ที่ทำหน้าที่เป็นโปรตีนตัวรับ NPY และควบคุมความกระหายโลหิตของยุงสาว และพวกเธอก็พบโปรตีนตัวรับที่น่าสนใจ พวกเธอตั้งชื่อโปรตีนนั้นว่า NPYLR7

          เพื่อพิสูจน์ว่า NPYLR7 ควบคุมความอยากอาหารจริง ๆ ในยุง ทีมวิจัยจึงใช้ CRISPR-Cas9 เพื่อสร้างยุงกลายพันธุ์ที่ไม่มียีน NPYLR7 แล้วดูว่ายุงกลายพันธุ์นั้นจะยังเบื่ออาหารหรือไม่เมื่อได้ยาลดความอ้วน ผลที่ได้น่าตื่นเต้นมาก เพราะยุงกลายพันธุ์เจริญอาหารแบบสุด ๆ กินจุบกินจิบไม่รู้จักอิ่ม ขนาดอ้วนปุยเป็นซูโม่สาวก็ยังแสดงพฤติกรรมอยากกินเลือดออกมาชัดเจน ตัวยาที่ให้ไปก็ไม่ประสบผล

          แต่การจะเอายาลดความอ้วนมาให้ยุงกินเลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าคนโดนแล้วเบื่ออาหารไปด้วยจะงานเข้า เลสลีและลอราก็เลยตัดสินใจลองสกรีนหาสารออกฤทธิ์ตัวอื่นที่น่าจะทำให้ยุงเบื่ออาหารแต่ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับคน

          เลสลีและลอราตีพิมพ์ผลงานของพวกเธอในวารสาร Cell ในปี พ.ศ. 2562 นำเสนอ NPYLR7 ว่าเป็นโปรตีนเป้าหมายที่น่าสนใจในยุง ที่ถ้าเราเข้าใจกระบวนการทำงานของมันอย่างถ่องแท้จะทำให้เราควบคุมพฤติกรรมการกินของยุงได้

          พวกเธอเฟ้นหาสารยาจากคลังสารออกฤทธิ์มากกว่าสองแสนหกหมื่นชนิด และพบสารยาที่อาจจะเอามาใช้คุมอาหารยุงได้โดยไม่ทำให้คนเอียนกับอาหารไปด้วย ซึ่งอาจพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนยุงได้ถึง 24 ชนิด

          ก่อนจะจบ ต้องบอกก่อนว่างานของเลสลีและลอรานี้โฟกัสไปที่ยุงลาย แต่ดูตามสายวิวัฒนาการแล้ว คิดว่าถ้าเอา NPY หรือสารออกฤทธิ์พวกนี้ไปใช้ในยุงก้นปล่องก็น่าจะให้ผลไม่ต่างกัน

          ไอเดียแปลก ๆ ก็สร้างอะไรที่มีอิมแพกต์ที่อาจจะช่วยปกป้องชีวิตผู้คนได้มากมายนับล้าน ใครจะรู้ ยาลดความอ้วนอาจจะเป็นอีกหนทางในการลดปัญหาโรคระบาดจากยุงก็เป็นได้

          เพราะ “ยุงอิ่มก็คือยุงที่ปลอดภัย”


อ้างอิง

Laura B. Duvall, Lavoisier Ramos-Espiritu, Kyrollos E. Barsoum, J. Fraser Glickman, and Leslie B. Vosshall,(2019) Small-Molecule Agonists of Ae. aegypti Neuropeptide Y Receptor Block Mosquito Biting, Cell, https://doi.org/10.1016/j.cell.2018.12.004

About Author