Headlines

ชีวิตสับสน : หน่วยของขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว ไม่ใช่ทั้ง “ริกเตอร์” และ “แมกนิจูด”

❌ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์
❌ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด
❌ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์
✅ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราโมเมนต์
✅ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8
✅ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.8

          บ่อยครั้งที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว เรามักจะเจอหรือได้ยินรายงานข่าวว่า “เกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่านั้นเท่านี้ริกเตอร์” หรือ “…เท่านั้นเท่านี้แมกนิจูด” ซึ่งความจริงแล้วทั้งคำว่า “ริกเตอร์” กับ “แมกนิจูด” นั้นไม่ใช่หน่วยวัดขนาดหรือระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว อ้าว ! แล้วมันคืออะไรกัน

          ริกเตอร์ (Richter magnitude scale หรือ local magnitude scale ชื่อย่อ ML) เป็นชื่อมาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว ที่ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) จาก California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1935 โดยใช้ข้อมูลความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า seismograph มาคำนวณขนาดของแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งที่เกิด ซึ่งแบ่งขนาดแผ่นดินไหวเป็น 0-9

          แม้ในประเทศไทยจะใช้มาตราริกเตอร์เป็นหลัก แต่มาตราริกเตอร์ก็ยังมีจุดอ่อนคือใช้วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7 ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนพัฒนามาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวอื่น ๆ ขึ้นมาอีก เช่น มาตราโมเมนต์ (Mw), มาตราคลื่นตัวกลาง (mb), มาตราคลื่นผิว (MS) โดยมาตราที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ มาตราโมเมนต์ที่วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำ

          ดังนั้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจึงควรระบุมาตราที่ใช้วัดด้วย อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในสาธารณรัฐตุรกี (ทูร์เคีย) และสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ ต้องบอกว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราโมเมนต์ หรือถ้าไม่ทราบก็เขียนแค่ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เท่านั้นพอ

          ส่วน แมกนิจูด (magnitude) แปลว่า ขนาด(ของแผ่นดินไหว) ไม่ใช่หน่วย ในข่าวต่างประเทศจะใช้คำว่า 7.8 magnitude earthquake/quake เมื่อแปลเป็นไทยก็คือ แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งไม่ต้องเติมแมกนิจูดต่อท้ายแล้ว

          เมื่อพูดถึงขนาดของแผ่นดินไหวแล้ว คนก็มักจะสับสนกับอีกคำคือ ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (intensity) ซึ่งกำหนดระดับความรุนแรงโดยใช้ความรู้สึกของการสั่นสะเทือนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็มีหลายมาตราเช่นกัน แต่ที่นิยมใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยคือ มาตราเมอร์คัลลิ (Mercalli scale) ซึ่งแบ่งความรุนแรงเป็น 12 ระดับ เขียนเป็นตัวเลขโรมัน จากน้อยไปมาก จากระดับ I ประชาชนไม่รู้สึก ตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือ ไปถึงระดับ XII อาคารเสียหายเกือบทั้งหมด การเขียนก็ควรต้องระบุมาตราไว้ด้านหลังตัวเลขด้วยเช่นเดียวกับขนาด เช่น แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงระดับ X ตามมาตราเมอร์คัลลิ

          สุดท้ายนี้ นิตยสารสาระวิทย์ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราโมเมนต์ ในสาธารณรัฐตุรกี (ทูร์เคีย) และสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย ไว้ ณ ที่นี้


อ้างอิง
– กรมอุตุนิยมวิทยา (https://bit.ly/3YiLHJ1)
– Paipibat (https://bit.ly/40JjtZg)
– Britannica (https://bit.ly/40LNFmI)
– How Stuff Works (https://bit.ly/40MHjmS)
– อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ (https://bit.ly/40N8luo)

About Author