โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าดูมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ ปรากฏการณ์ฝนดาวตก (meteor shower) เห็นดาวตกสวยงามจำนวนมากบนท้องฟ้า
ดาวตก (meteor หรือ falling star หรือ shooting star) เกิดจากสะเก็ดดาว (meteoroid) เป็นก้อนหินหรือก้อนเหล็กเล็ก ๆ ในอวกาศ เข้ามาในโลก เกิดเสียดสีลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศชั้นเมโซสเฟียร์ (mesosphere) สูงประมาณ 76-100 กิโลเมตร จากพื้นดิน ทำให้เกิดเป็นแสงสว่าง และบางครั้งเราอาจได้ยินเสียงด้วย
สะเก็ดดาวส่วนใหญ่จะไหม้หมดในชั้นบรรยากาศ แต่บางครั้งที่สะเก็ดดาวไหม้ไม่หมดตกมาบนพื้นโลก เรียกว่า อุกกาบาต (meteorite) มาจากคำว่า “อุกกา” แปลว่า คบเพลิง และ “บาต” แปลว่า ตก
คนไทยเรียกดาวตกอีกชื่อว่า “ผีพุ่งไต้” เหมือนผีพุ่งหรือขว้างไต้ที่ใช้จุดไฟไปบนท้องฟ้า
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1833 มีผู้พบเห็นดาวตกจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ประมาณว่ามีดาวตกมากถึง 34,640 ดวงต่อชั่วโมง และที่น่าสนใจคือ ดาวตกเหมือนพุ่งออกมาจากจุดหนึ่งบนท้องฟ้า เป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดกระจาย (radiant) ในกลุ่มดาวสิงโตเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องฝนดาวตก
ภาพวาดพายุฝนดาวตกสิงโต ค.ศ. 1833 สหรัฐอเมริกา
ลงพิมพ์ในหนังสือ Bible Readings for the Home Circle ปี ค.ศ. 1888
ปัจจุบันองค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organization ย่อว่า IMO) เป็นองค์กรที่ศึกษาเรื่องฝนดาวตกโดยเฉพาะ
ชื่อฝนดาวตกจะตั้งตามกลุ่มดาวที่จุดกระจายอยู่ แล้วใส่คำว่า ids ต่อท้ายชื่อกลุ่มดาว ตัวอย่างเช่นฝนดาวตกที่มีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) จะเรียกว่า ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) ฝนดาวตกที่มีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) จะเรียกว่า ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids)
ฝนดาวตกที่มีอัตราดาวตกตั้งแต่ 1,000 ดวงต่อชั่วโมง จะเรียกว่า พายุดาวตก (meteor storm)
เมื่อปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) มีข่าวพายุฝนดาวตกสิงโต ว่าจะมีดาวตกจำนวนมาก เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องฝนดาวตกในประเทศไทย
พายุฝนดาวตกสิงโตจะเกิดทุก 33 ปี ครั้งสุดท้ายปี ค.ศ. 2001 มีดาวตก 3,000 ดวงต่อชั่วโมง
ปัจจุบันมีรายชื่อฝนดาวตกทั้งหมด 836 กลุ่ม เฉพาะที่ยืนยันแล้ว 112 กลุ่ม มีฝนดาวตกหลัก ที่มีดาวตกมากกว่า 10 ดวงต่อชั่วโมง จำนวน 11 กลุ่ม
ภาพดาวตกที่เป็นลูกไฟ (fireball) ของฝนดาวตกคนคู่ ในทะเลทราย Mojave, California สหรัฐอเมริกา โดย Wally Pacholka
ที่มาภาพ : NASA
ฝนดาวตกที่น่าดูที่สุดในประเทศไทยคือฝนดาวตกคนคู่ มีตั้งแต่วันที่ 4-17 ธันวาคม ของทุกปี (ฝนดาวตกเกิดหลายวัน) และมีมากที่สุดวันที่ 14 หรือ 15 ธันวาคม แต่ละปีวันที่อาจแตกต่างกัน สำหรับปีนี้ พ.ศ. 2566 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม เวลา 02:00 น. (กลางคืนต่อเนื่องจากวันที่ 14 ธันวาคม) และปีนี้ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบาง 6 เปอร์เซ็นต์ และดวงจันทร์ตกตั้งแต่หัวค่ำ ทำให้ปีนี้มีโอกาสจะได้เห็นดาวตกจำนวนมาก
ที่น่าดูที่สุดเนื่องจากฝนดาวตกคนคู่เกิดดาวตกจำนวนมากคือ 150 ดวงต่อชั่วโมง เกิดเป็นประจำ มักมีดาวตกลูกใหญ่ที่เรียกว่า ลูกไฟ (fireball) สว่างมาก เห็นได้แม้ในกรุงเทพฯ และเกิดในฤดูหนาว กลางคืนยาวนาน ท้องฟ้ามักแจ่มใส มีเมฆน้อย ไม่มีฝน
ที่มา: ปฏิทินฝนดาวตก ค.ศ. 2023 ขององค์การอุกกาบาตสากล
ขนาดดวงจันทร์ เวลาขึ้น ตกของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่กรุงเทพฯ
(จังหวัดอื่นเวลาอาจแตกต่างเล็กน้อย) จากแอปฯ SkyPortal
ข้างขึ้นข้างแรมจากปฏิทิน พ.ศ. 2566 โดย มายโหรา
รวบรวมโดย พงศธร กิจเวช (อัฐ) Facebook: คนดูตาว stargazer
การดูฝนดาวตกในที่มืดสนิท กว้าง จะเห็นดาวตกจำนวนมากกว่าในเมืองที่มีมลพิษแสงมาก และหากปีไหนคืนนั้นไม่มีแสงจันทร์สว่างก็จะเห็นดาวตกมากกว่าคืนที่มีแสงจันทร์ และถ้าเป็นที่เงียบสงัด จะมีโอกาสได้ยินเสียงดาวตกด้วย
วิธีการชมฝนดาวตกไม่จำเป็นต้องมองไปที่จุดกระจาย อาจนอนดูกลางท้องฟ้า จะทำให้เห็นกว้างที่สุด และเป็นบริเวณท้องฟ้าที่มืดที่สุด อย่างไรก็ตามถ้ารู้จักจุดกระจายและรู้จักกลุ่มดาวต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างฝนดาวตกกลุ่มดาวกับดาวตกปกติทั่วไปที่มีทุกคืนได้ เพราะดาวตกของฝนดาวตกจะมีทิศทางพุ่งออกมาจากจุดกระจาย แต่ดาวตกปกติทั่วไปมีทิศทางไม่แน่นอน มาจากทิศทางใดก็ได้
ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกคนคู่ จากแอปฯ Celestron SkyPortal เลือกเมนู Search (ค้นหา) ด้านล่างซ้ายของหน้าจอ แล้วเลือก Meteor Showers (ฝนดาวตก) ด้านล่างสุด (เลื่อนลงมาล่างสุด) เลือก Geminids (ฝนดาวตกคนคู่) แล้วคลิก Center (ตรงกลาง)
ขอแนะนำแอปพลิเคชันดูดาวที่ช่วยบอกตำแหน่งของจุดกระจาย และยังสามารถจำลองการเกิดฝนดาวตกได้ด้วย คือแอปฯ Celestron SkyPortal ดาวโหลดฟรี มีทั้งระบบ Android, iOS และ iPadOS
ผมได้เขียนคู่มือดูฝนดาวตกประจำปี สามารถอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือฟรี (ไฟล์ PDF) ได้ตามลิงก์ใน Facebook Page: คนดูดาว stargazer