ทีมวิจัยคณะวิทย์ มช. พัฒนาเครื่องมือวินิจฉัย ภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย

          ทีมวิจัยจากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันศึกษาพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย (Thai Diagnostic Autism Scale: TDAS) ภายใต้การวิจัยในหัวข้อ Development and psychometric evaluation of a Thai Diagnostic Autism Scale for the early diagnosis of Autism Spectrum Disorder

          โดยเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย (Thai Diagnostic Autism Scale: TDAS) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อวินิจฉัยภาวะออทิสซึม (Autism Spectrum Disorder: ASD) ในเด็กไทยอายุ 12-48 เดือน เครื่องมือ TDAS มีข้อประเมินทั้งหมด 23 ข้อ ประกอบด้วย ข้อที่ประเมินโดยการสังเกต 13 ข้อ และข้อที่ประเมินโดยการสัมภาษณ์ 17 ข้อ ซึ่งมี 7 ข้อ ที่ต้องประเมินทั้งสองแบบ

          การวิเคราะห์ทางสถิติที่เกี่ยวข้องในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือ TDAS นั้น ได้แก่ การวิเคราะห์ค่าความเที่ยงตรงรายข้อ (Index of Item-Objective Congruence: IOC), การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory Factor Analysis) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์แคปปาของโคเฮน (Cohen’s Kappa Coefficient) เพื่อใช้ในการทดสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง (Construct validity) และการทดสอบเที่ยงตรงภายใน (Inter-rater validity) ระหว่างผู้วินิจฉัยกับผู้สังเกตด้วยเครื่องมือ TDAS และความเที่ยงตรงตามสภาพ (Concurrent validity) ระหว่างเครื่องมือ TDAS และการวินิจฉัยโดยแพทย์ ตามลำดับ

          ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า เครื่องมือ TDAS ที่พัฒนาขึ้นนี้ มีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง ความเที่ยงตรงภายใน และความเที่ยงตรงตามสภาพ ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ สามารถนำไปใช้ในการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมให้แก่เด็กไทยตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม

          คุณสมบัติของเครื่องมือ TDAS นี้ มีความน่าเชื่อถือ มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ และยังช่วยลดอุปสรรคจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ในการใช้เครื่องมือประเมินแบบตะวันตกหรือแบบแปล อีกทั้งการใช้งานในทางปฏิบัติมีประสิทธิภาพ และทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

          คณะผู้วิจัยคาดหวังว่า งานวิจัยนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยลดจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยภาวะออทิสซึม หรือได้รับการวินิจฉัยล่าช้า และนำไปสู่การเฝ้าระวังและรักษาภาวะออทิสซึมในเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          การสร้างเครื่องมือ TDAS เพื่อใช้ในการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมสำหรับเด็กไทยในระยะเริ่มแรกนี้ ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ และมีประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์และด้านสังคม เนื่องจากเครื่องมือนี้สามารถลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแบบประเมินอื่น ๆ ที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในการฝึกใช้แบบประเมิน เพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน และมีข้อคำถามที่เข้ากับบริบทของสังคมไทย

          นอกจากนี้ ยังช่วยให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งจะไปสู่การเฝ้าระวัง และการบำบัดรักษาอย่างเข้มข้นตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เต็มศักยภาพอย่างมีความสุข

          ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Autism Research
          Impact Factor : 4.633 (Q1: ISI และ Scopus)
          First published: 25 October 2021

          ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1002/aur.2631


นักวิจัย
ทีมวิจัยจากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
นำโดย แพทย์หญิงดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ (1)
นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร (2) และคณะ
ร่วมกับอาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ
อ.ดร.พิมพ์วรัชญ์ ศรีคำมูล (3)
และ รศ.ดร.ภัทรินี ไตรสถิตย์ (4)

About Author