เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์
ปลาฉนาก (วงศ์ Pristidae) เป็นปลาขนาดใหญ่ในกลุ่มกระเบน Order Rhinopristiformes ที่มีรูปร่างคล้ายฉลาม ส่วนหัวแบนราบ จะงอยปากเป็นแท่งยื่นยาวและมีฟันแหลมเรียงเป็นแถวที่ด้านข้าง มีปากเล็ก อยู่ด้านล่าง มีช่องหายใจอยู่หลังตา ช่องเหงือกมี 5 ช่องอยู่ด้านท้อง ครีบอกกว้างมีปลายเป็นเหลี่ยม ครีบหลังมีปลายแหลม ไม่มีครีบก้น ครีบหางมีแพนบนยาวกว่า กินปลาและสัตว์หน้าดินเป็นอาหาร
ประชาชนชาวพังงาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายจะงอยปากปลาฉนาก ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2502
ที่มาภาพ : หนังสือ “สมุดภาพที่ระลึกเสด็จประพาสภาคใต้ พุทธศักราช 2502”
ปลาฉนากเป็นปลาที่ง่ายต่อการติดเครื่องมืออวนและอื่น ๆ เกือบทุกอย่าง และมันก็ตายอย่างเร็วหลังติดเครื่องมือ ในบางประเทศ เช่น ปากีสถาน เคยพบปลาฉนากชุกชุมมาก มักถูกจับขึ้นมาเป็นผลพลอยจับมากกว่าเป็นชนิดเป้าหมายหลัก จะงอยปากของมันมีมากมายจนชาวบ้านที่นั่นเอามาทำหลักรั้วบ้าน
ส่วนในน่านน้ำไทยก็เคยพบบ่อยเช่นกัน จะงอยปากอันใหญ่ ๆ ถูกนำไปไว้บูชาแก่ศาลเจ้าตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนอันเล็ก ๆ ถูกนำมาขายเป็นของประดับ ของที่ระลึกมากกว่า
จะงอยปากปลา Pristis zijsron (ซ้าย) เทียบกับ P. pristis (ขวา) ที่ถือโดย H.M. Smith อธิบดีกรมประมงคนแรก
ปลาในวงศ์ฉนากนี้พบในเขตร้อนและอบอุ่นรอบโลก มีรวม 5 ชนิด และเคยพบในประเทศไทย 3 ชนิด คือ
ฉนากจะงอยกว้าง (Pristis pristis)
จะงอยปากกว้าง มีฟันตั้งแต่โคน อาศัยในชายฝั่ง พบเข้ามาในแม่น้ำเป็นครั้งคราว ขนาดที่พบใหญ่สุดมีความยาวถึง 5 เมตร พบในทะเลชายฝั่งและปากแม่น้ำของเขตร้อนและอบอุ่นรอบโลก เคยเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) และสูญพันธุ์แล้วจากประเทศไทย
ฉนากเขียว (Pristis zijsron)
จะงอยปากเรียว มีฟันที่โคนจะงอยปาก ฟันมีรูปร่างเรียว ครีบหางเว้าตื้น อาศัยในชายฝั่งและปากแม่น้ำของเขตร้อนเขตอินโด-แปซิฟิก ขนาดที่พบใหญ่สุดมีความยาวถึง 4 เมตร เคยพบในฝั่งทะเลอันดามัน มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) และสูญพันธุ์แล้วจากประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ฉนากจะงอยแคบ (Anoxypristis cuspidatus)
จะงอยปากเรียว ไม่มีฟันที่โคนจะงอยปาก ฟันมีรูปร่างแบน ครีบหางเว้าลึก แพนล่างมีปลายแหลม อาศัยในชายฝั่ง ขนาดที่พบใหญ่สุดมีความยาวถึง 3 เมตร พบในทะเลชายฝั่งและปากแม่น้ำของเขตร้อนเขตอินโด-แปซิฟิก เคยพบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา จับได้ที่จังหวัดนนทบุรีครั้งเดียว (กิตติพงษ์ จารุธานินทร์, ติดต่อส่วนตัว) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) และสูญพันธุ์แล้วจากประเทศไทยเช่นเดียวกัน