การประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้เกิดความยั่งยืน นอกจาก “รสมือ” ของผู้ขายที่ถูกใจผู้ซื้อแล้ว จะต้อง “ดีต่อสุขภาพ” และที่สำคัญต้อง “เข้าใจในผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค” อีกด้วย
อาจารย์ ดร.ดลพร แซ่แต้ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (หลักสูตรนานาชาติ, หลักสูตรพหุวิทยาการ) วิชาเอกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ผลงานทางวิศวกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย
อย่างไรก็ตาม คณะฯ ยังมีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (หลักสูตรนานาชาติ) วิชาเอกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม ที่นอกจากจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในการเป็นวิศวกรแล้ว ยังมุ่งพัฒนานักศึกษาให้มีแนวคิด “นวัตกรอาหารหัวใจผู้ประกอบการ” อีกด้วย
ที่ผ่านมา หลักสูตรฯ มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มเข้าสู่โครงการ Startup และคว้ารางวัลจากการประกวดผลงานมากมาย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F หรือโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งเป็นโครงการระดับนานาชาติ
ผลงานล่าสุดที่สามารถตอบโจทย์ของการเป็น “นวัตกรอาหารหัวใจผู้ประกอบการ” คือการใช้ห้องปฏิบัติการของหลักสูตรฯ เป็นจุดกำเนิดของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะกับผู้ต้องการเสริมโปรตีนอย่างเร่งด่วน และผู้รักสุขภาพโดยทั่วไป
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ฯ คือ ผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มที่มีโปรตีนจากไข่ขาวซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ 1 ขวด เทียบเท่ากับการทานไข่ขาวจากไข่ไก่ประมาณ 4-5 ฟอง และมีรสชาติที่ผ่านการทดสอบความพึงพอใจ จากกลุ่มตัวอย่างคนไทย แล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ได้แก่ โกโก้ กาแฟลาเต้ กรีนทีลาเต้ และชาไทย ที่ดื่มง่ายและไม่มีกลิ่นคาว
ดังนั้น จะเห็นว่านอกจากหลักสูตรฯ จะให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนให้นักศึกษาใช้ทักษะทางวิศวกรรมเพื่อวางแผนและดูแลระบบการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศแล้ว หลักสูตรฯ ยังมุ่งฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างครบวงจร จนสามารถต่อยอดสร้างธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต
เคล็ดลับของ “นวัตกรอาหารหัวใจผู้ประกอบการ” ไม่ได้อยู่ที่การ “คิดตามกรอบ” งานวิจัย แต่ต้องรู้จัก “คิดนอกกรอบ” เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่าง “เข้าถึง” ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และส่งผลเชิงบวกต่อสังคมอย่างยั่งยืน แม้มากด้วยองค์ความรู้ แต่อาจไม่มากด้วยผลกำไร หากไม่เข้าใจผู้บริโภค
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210