SDGs กับเรื่องราวแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย ป๋วย อุ่นใจ


          ตารางสีสันสดใส ไอคอนที่ดูซิมเปิล กับคำบรรยายสั้น ๆ ที่บ่งบอกถึงเป้าหมายแต่ละข้อของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ถูกเอามาแปะไปทั่ว พบได้ตลอดในแทบทุกวงการ จนกลายเป็นอะไรที่เริ่มบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักวิชาการและนักวิจัย

          ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา SDGs กลายมาเป็นเป็นหนึ่งในเทรนด์โลกที่ได้รับการกล่าวถึงในแทบทุกวงการ โดยมีคีย์เวิร์ด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มาเป็นกิมมิกที่ทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญ

          จะทำอะไรก็ต้องเชื่อมโยงไปกับ SDGs ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าสำหรับนักวิจัยแล้ว buzzword อย่าง SDGs เป็นอะไรที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ใช่น้อย เพราะนอกจากจะคิดถึงโครงการวิจัยที่จะให้ตอบโจทย์สังคม และแผนที่รัดกุมเพื่อจะไม่ให้โดนชาวบ้านปาดหน้าก่อนที่จะพัฒนาโครงการจนเสร็จแล้ว ยังจะต้องมาหาทางเชื่อมโยงกับอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอะไรนี่อีก

          คำถามที่ว่าทำไมต้องมานั่งคิดต่อวนเวียนอยู่ในหัวผมอยู่พักใหญ่ จนทนไม่ไหวต้องไปคุ้ยค้นความหมายและรายละเอียดของแต่ละเป้าประสงค์ของ SDGs มาอ่าน ซึ่งก็ได้ไอเดียมาบ้างว่าควรจะทำอะไร และจะนั่งจิ้มยังไงให้จุดของงานวิจัยไปเชื่อมโยงกับจุดไหนสักจุดจาก 17 จุด ของ SDGs

          ในมุมนักวิจัย ในตอนแรก ส่วนตัว ผมแอบถามตัวเองว่าเรื่องนี้สำคัญตรงไหน การมานั่งหาทางเชื่อมจุด มันเหมือนเป็นอะไรที่ไม่น่าจะมีสาระ แถมยังเกิดคำถามด้วยว่าจะมีใครเอาไปอ่านแบบจริง ๆ จัง ๆ หรือเปล่า หรือทำแค่พอเป็นอะไรที่ทำให้มี เวลาที่มีกรรมการมาตรวจประเมินหรือจัดอันดับ (ranking) ถาม… “งานวิจัยที่นี่มีการเชื่อมโยงกับเป้า SDGs เป้าไหนบ้างหรือเปล่า ?” จะได้ตอบไปอย่างภาคภูมิว่า “มีคร้าบบบบ”

          แต่มีแล้วดีไหมหรือจะไปต่ออย่างไรนั้น อาจจะเป็นอีกเรื่อง

          จับพลัดจับผลู วันนั้นเป็นวันคุมสอบที่ศาลายา ผมคุมสอบเสร็จเร็วและกำลังนั่งคุยเรื่องจิปาถะ เมาท์มอยกับอาจารย์ท่านอื่นที่คุมสอบเสร็จแล้ว รอรถมารับกลับเข้ากรุง หรือบางคนก็มาเร็ว ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องจรลีไปห้องสอบ

          สายตาก็มองข้ามห้องไปสบตาปิ๊ง ๆ กับผู้บริหารท่านหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นั่งอยู่ห้องตรงข้าม และไม่กี่นาทีต่อมาท่านรองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ก็เดินออกมา ในใจของผมเต้นตึ้กตั้ก ฤาท่านจะอ่านปากเราผิดแล้วตีความไปว่าเราเมาท์

          เฮ้ย…ไม่เกี่ยว เราคุยเรื่องของกิน เราไม่ได้พูดถึงท่านเลย ใครจะบ้ากล้าไปเมาท์ระยะเผาขนเสียขนาดนั้น เดี๋ยวงานจะเข้า ปรากฏว่าท่านเปิดประตูเข้ามาทักทาย พร้อมทั้งชวนว่ามหาวิทยาลัยจะจัดงานอบรมเกี่ยวกับ SDGs สนใจไปเข้าร่วมไหม คณะให้ความสำคัญเรื่องนี้จริงจังและคิดว่าผมน่าจะสนใจ

          ผมหยิบไอแพดขึ้นมาส่องตารางตัวเอง พอเห็นว่าไม่ติดงานอะไรสำคัญก็เลยตอบตกลงไปในทันที และก็แอบตื่นเต้นเล็กน้อยกับการจะได้ไปอบรมอะไรที่อินเทรนด์ขนาดนี้

          คือที่จริงผมก็สนใจอยากรู้อยากเห็นเรื่อง SDGs อยู่ แต่ยังไม่เคยมีเวลาลงไปขุดคุ้ยดูข้อมูลอย่างจริง ๆ จัง ๆ เคยเข้าไปฟังเสวนาของศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG move อยู่แวบ ๆ แค่นั้น เลยไม่ได้รู้ใจความสำคัญที่แท้ของเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนระดับโลกที่กำลังเป็นกระเเสอยู่ในขณะนี้

          ไม่นานผมก็ได้จดหมายแจ้งตอบรับให้เข้าร่วมอบรม และเมื่อแอบเห็นชื่อผู้ที่ไปเข้าร่วมอบรมด้วยก็ยิ่งตื่นเต้น เพราะเป็นระดับผู้บริหารล้วน ๆ ทั้งท่านรองและท่านผู้ช่วยคณบดีที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนองคาพยพระดับคณะจริง ๆ มาเอง

          พอถึงวันอบรม คุณป๋วยก็เลยทำตัวลีบ เตรียมตัว (ไปกินของฟรี) และเตรียมใจ (ไปเรียนรู้สิ่งใหม่) น่าจะเป็นอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และพอได้ฟังแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัยทั้งท่านนายกสภา ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ ก็ต้องบอกเลยว่าประทับใจในความรู้ลึกและรู้จริงเกี่ยวกับ SDGs

          อาจารย์บรรจงเล่าถึงประวัติของการเกิดขึ้นมาของ SDGs อย่างกระชับ และนั่นทำให้ผมมองเห็นภาพชัดขึ้นว่าตารางสี ๆ 17 ข้อนั้นโผล่มาได้อย่างไร

          เมื่อตอนเข้ายุคสหัสวรรษ เจเนอเรชัน Y2K ยุค ค.ศ. 2000 องค์การสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนายุคสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้าวยากหมากแพง โรคระบาด และการศึกษาปฐมวัยกันอย่างเท่าเทียม

          และเมื่อสถานการณ์ในโลกนั้นแปรเปลี่ยนไป มนุษยชาติต้องประสบกับปัญหาใหม่ ๆ อย่างภาวะโลกรวน การอุบัติขึ้นของโรคอุบัติใหม่ วิกฤตอาหาร มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม MDGs จึงอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่จะตอบโจทย์ของมวลมนุษยชาติได้อีกต่อไป ในงานประชุมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2012 ที่กรุงริโอเดอจาเนโร (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล) ทางองค์การจึงเริ่มคิดและได้เปิดตัวโครงการเพื่อริเริ่มออกแบบเป้าหมายใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

          และในช่วงต้นปี ค.ศ. 2013 ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ 70 ประเทศก็ได้เข้าร่วมกันระดมสมองเป็นครั้งแรก และนำเสนอเป้าหมายฉบับร่างออกมา 17 ข้อเป็นตุ๊กตาในช่วงกลางปี ค.ศ. 2014 แต่กว่าจะมีการถกกัน ต่อรอง ปรับแก้ในรายละเอียด ก็กลางปี ค.ศ. 2015 ถึงได้มีประกาศออกมาใช้แทน MDGs อย่างเป็นทางการ

          การออกแบบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนนั้นจะมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นหลักใหญ่อยู่สามอย่าง บางคนเรียกว่า 3P ประกอบไปด้วย “คน (people)” “ความมั่งคั่ง (prosperity)” และ “โลก (planet)”

          น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่เวลาได้ยินคำว่า SDGs หรือความยั่งยืนจะไปนึกถึงสิ่งแวดล้อม แนวลดขยะ ลดโลกร้อนกันก่อน

          แต่ถ้ามองในมุมของการพัฒนาจริง ๆ แน่นอนว่าถ้าอยากให้ยั่งยืน ประเด็นแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ “คน”

          สังคมจะดีได้ คนต้องแฮปปีมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีเสียก่อน อาหารการกินต้องเพียงพอ ไม่มีความอดอยากหิวโหย และที่สำคัญต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะถ้าผู้คนอยู่ได้อย่างยั่งยืน เรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา

          แต่ถ้าทุกคนยังปากกัดตีนถีบ เรื่องที่ว่าจะช่วยโลกได้อย่างไร ในกลุ่มคนทั่วไปบางทีอาจจะไม่ใช่สิ่งแรกที่จะคำนึงถึง

          ส่วนประเด็นที่ 2 prosperity หรือความมั่งคั่งนั้น ก็ค่อนข้างชัดเจน ถ้าออกแบบระบบให้ดี ให้งอกงามสะพรั่ง คุณภาพชีวิตดี ผู้คนมีการศึกษา มีความรับผิดชอบ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ความสุขในสังคมก็จะเกิด และถ้าเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ด้วยแล้ว นี่คือความยั่งยืนของสังคมในอุดมคติ

          และประเด็นสุดท้าย planet ซึ่งก็คือ “โลกของเรา” สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือจะทำอย่างไรให้พวกเราใช้โลกนี้อย่างรับผิดชอบและไม่สร้างภาระให้คนยุคต่อไปมาตามแก้ปัญหา ซึ่งยากมากกกก… ก ไก่ล้านตัว เพราะตอนนี้สถานการณ์มันเลยจุดที่ควบคุมได้ไปมากแล้ว

          นอกจากนี้ปัญหาเรื่องโลกร้อน โลกรวน มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด และนั่นคือเหตุผลที่สังคมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโลกนี้เป็นพิเศษ มากจนกลบความสำคัญประเด็นอื่น ๆ แทบไม่เหลือ เมื่อไรที่มีคนพูดเรื่องความยั่งยืน ประเด็นสิ่งแวดล้อมและมลพิษก็มักจะผุดขึ้นมาก่อนเสมอ…

          3P ครอบคลุมเป้า SDGs ได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นข้อ 16 และข้อ 17 ที่อาจจะหลุดไปนิดนึง ซึ่งก็คือ peace (สันติภาพ) และ partnerships (การร่วมมือกัน)

          ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้ามีแต่สงคราม โอกาสที่จะพบหนทางยั่งยืนก็คงจะเป็นไปไม่ได้ และถ้าอยากจะให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายคงต้องปรับตัวเข้าหาและร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ถ้าได้ครบตามเป้าทั้ง 17 ข้อสมบูรณ์ ความฝันแห่งการสร้างความยั่งยืนก็น่าจะเป็นจริงได้

          ทว่าการจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ได้นั้น ต้องใช้กลยุทธ์ที่แพรวพราวและชาญฉลาด รวบรวมทุกเทคนิค (technique) แทกติก (tactic) ทิป (tip) และทริก (trick) เข้ามาให้ครบ เพราะโดยส่วนมากระบบและนโยบายอาจจะไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก บางทีก็อาจจะเจอขวากหนาม หรือหนักหน่อยก็อาจจะเจอทางตัน

          แต่การที่มีโอกาสได้เข้าไปนั่งฟังแนวคิดเบื้องหลังของ SDGs และได้เห็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มมีการดำเนินการแบบ (กึ่ง) ยั่งยืนได้บ้าง ก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้ได้เปิดหูเปิดตา

          ส่วนตัวผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจัดอันดับ แต่ในปี ค.ศ. 2023  ถ้าว่าตามการจัดอันดับของ Times Higher Education มีมหาวิทยาลัยไทยดาหน้ากันเข้าไปติดท็อปของโลกด้าน SDGs กันเป็นแถว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ที่ 17 ส่วนมหิดลอยู่ที่ 38 จากการประเมินมหาวิทยาลัยกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วตอนต้น จะได้อับดับประมาณนี้ถือว่าไม่ใช่ง่าย เพราะไม่ใช่แค่สร้างภาพรักษ์โลก เอาใจใส่ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นกรีนอย่างเดียวแล้วจะได้ แต่ต้องมีเรื่องคน เรื่องธรรมาภิบาล ผลประกอบการ สันติภาพ และการสร้างพันธมิตรด้วย จึงจะมีสิทธิเข้าไปลุ้น

          ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะนั่นหมายความว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีความตื่นตัวมากในเรื่องของความยั่งยืน

          ที่จริงในการอบรมยังมีแนวคิดการบริหารและโครงการอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ แต่บอกเลยว่าถ้าจะทำให้สำเร็จและยั่งยืนได้จริง แค่ทำให้ติดอันดับคงไม่พอ

          การจัดอันดับจะเน้นว่าทำได้ครบจบเกณฑ์ไหม และถ้าหวังแค่เอาคะแนน บางทีแค่มี ไม่จำเป็นต้องดี ก็ได้คะแนนกันแล้ว

          และถ้ามหาวิทยาลัยอยากจะผลักดันให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในองค์กร คงต้องมีการปรับไอเดียคนในองค์กรครั้งใหญ่ และยกเครื่องระบบกันแบบเอาจริงเอาจัง ซึ่งผมเชื่อว่าคนตัวเล็ก ๆ หน้างานแม้จะมีแนวคิดที่สร้างสรรค์เพียงไรก็คงไม่มีทางทำอะไรได้มาก ถ้าผู้บริหารและผู้สร้างนโยบายไม่พร้อมที่จะลงมาช่วยเล่น

          แน่นอนว่าทุก P มีความสำคัญ แต่ในมุมของผม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความยั่งยืนในองค์กรใหญ่ อาจจะเป็นเรื่องของพันธมิตรหรือ partnership  ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้เรามักให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับใหญ่อย่างระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ

          แต่บางที partnership ที่สำคัญที่สุดอาจจะอยู่ใกล้แค่ปลายตา เพราะคนที่รู้ปัญหาตัวจริงก็คือคนที่อยู่หน้างาน

          การอบรมที่ผมได้เข้าถือเป็นก้าวที่ดีในการเริ่มทลายน้ำแข็งในหมู่คนทำงาน  คือให้คนหน้างานได้คุยได้อภิปรายกันในเรื่องปัญหาที่แต่ละคนได้ประสบพบเจอ และมันประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและยินดีที่จะแชร์ประเด็นของตัวเองออกมา เพื่อระดมสมองหาหนทางแก้ปัญหา (ด้วยความหวังที่ว่ามันจะยั่งยืน)

          หากผู้บริหารที่ทำหน้าที่ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหายินดีที่จะลงมารับฟัง หรือที่ดีกว่าคือมาเป็นพันธมิตรกับคนหน้างานที่รู้ลึกรู้จริงเรื่องปัญหา ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก

          ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในตอนนี้เริ่มมีกลไกการ outreach ลงมาถึงคนหน้างานกันมากขึ้น…

          ทั้งการจัดเวิร์กชอป การอบรมต่าง ๆ  ที่มีผู้บริหารระดับสูงลงมาร่วมด้วย รวมไปถึงการริเริ่มแนวคิดในการก่อตั้งแซนด์บอกซ์ (sandbox) และเซฟโซน (safe zone) สำหรับความคิดเห็นและโครงการที่อาจจะเซนซิทิฟ

          เพราะถ้าเป้าสุดท้ายสำเร็จได้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าภาพองค์กรแห่งความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นคงอยู่ไม่ไกล

About Author