ม.มหิดล เปิดป.โทการจัดการสุขภาพสัตว์ป่าแห่งแรกในไทย ไขปริศนาโรคติดเชื้อในลูกช้าง

          การศึกษาทาง “พยาธิวิทยา” (Pathology) เพื่อให้ทราบถึง “กลไกการเกิดโรค” นับเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างแผนที่เพื่อการค้นหาการรักษาและป้องกันโรค จากความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของระบบภายในร่างกายของมนุษย์และสัตว์

          เช่นเดียวกับการเกิดโรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) ที่คร่าชีวิต “ลูกช้าง” ได้ถึงประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราการเกิดในแต่ละปี ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ในขณะนี้

          อาจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงพจนา วรรธนะนิตย์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) ใน “ลูกช้าง” แม้เกิดจากไวรัสในตระกูล Herpes Virus เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในกลุ่มสปีชีส์ หรือสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน

          จึงส่งผลต่างกันในมนุษย์และสัตว์ และไม่ติดต่อจาก “สัตว์สู่คน” หรือ “คนสู่สัตว์” รวมทั้งจาก “สัตว์สู่สัตว์” ซึ่งในมนุษย์อาจแสดงเป็นอาการของ “เริม” หรือโรคติดเชื้อไวรัสทางเพศสัมพันธ์ (Herpes simplex virus) แต่ใน “ลูกช้าง” หากติดเชื้อไวรัส EEHV อาจส่งผลลุกลามจนเสียชีวิต โดยมีรายงานของโรคนี้ใน “ช้างเอเชีย” มากกว่า “ช้างแอฟริกา” และเชื้อไวรัส EEHV ที่ก่อโรคในช้างทั้งสองชนิดเป็นคนละกลุ่มย่อยกันอีกด้วย

          จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังของทีม EEHV Task Force Thailand พบว่า “ลูกช้าง” ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) มีโอกาสเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 60 – 70 หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

          โดยลูกช้างอาจจะแสดงอาการไม่จำเพาะเจาะจงในช่วงแรก อาจเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เดินขาแข็ง เซื่องซึม กินน้อยลง จนเมื่อมีอาการรุนแรง มักมีอาการหน้าบวม ลิ้นม่วง มีไข้ ถ่ายเหลวปนเลือด จนมีอาการทรุด หัวใจ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

          ซึ่งโอกาสของการ “รอดชีวิต” ของ “ลูกช้าง” ต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดของ “ควาญช้าง” โดยที่ผ่านมาพบว่า จากวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ “ควาญช้าง” ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องเปลี่ยนอาชีพ ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดโรคติดเชื้อไวรัส EEHV HD

          ปัจจัยสำคัญของการทำให้โรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) ลุกลาม เกิดจาก “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” โดย “ลูกช้าง” จะได้รับ “ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ” จาก “แม่ช้าง” ทั้งในช่วงระหว่างตั้งท้องผ่านทางรกและหลังคลอดผ่านทางน้ำนม โดยเฉพาะ “น้ำนมเหลือง” ในช่วงไม่กี่วันแรกหลังการตกลูก

          หาก “ลูกช้าง” ต้องแยกจาก “แม่ช้าง” เร็วเกินไป และหาก “ลูกช้าง” ไม่แข็งแรงจากการพักผ่อนน้อย หรือสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงกะทันหัน หลังรับเชื้อไวรัส EEHV มีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้ “ลูกช้าง” ป่วยจากเชื้อนี้และพัฒนาไปเป็นโรคติดเชื้อไวรัส EEHV HD

          อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาได้ หากเข้ารับการรักษาในช่วงแรกของการติดเชื้อ “ควาญช้าง” และ “เจ้าของช้าง” จึงมีความสำคัญในการเฝ้าสังเกตอาการ และแจ้งสัตวแพทย์ให้ทันก่อนที่อาการจะลุกลามจนยากจะแก้ไข

          อาจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงพจนา วรรธนะนิตย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) ใน “ลูกช้าง” ได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งยังไม่สามารถเพาะเชื้อไวรัสดังกล่าวเองได้ จึงทำให้ขาดข้อมูลที่จะนำไปสู่การศึกษากลไกการเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างครบวงจร

          อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ไทยประสบความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนสามารถค้นพบ “Target Cell” หรือเซลล์เป้าหมาย รวมทั้งกลไกการเกิดโรค (pathogenesis) ของโรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus haemorrhagic disease (EEHV HD) ทำให้สัตวแพทย์ไทยสามารถรักษาลูกช้างได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

          มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล มอบองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันดูแลลูกช้างไทยให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpes virus haemorrhagic disease (EEHV HD) รวมถึงการผลิตวัคซีนป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อไวรัส EEHV HD ในอนาคต

          ซึ่งต้องอาศัยความรู้พื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญ นอกจากพยาธิวิทยาแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา นิเวศวิทยา ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจ และจัดการโรค

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรการจัดการสุขภาพสัตว์สวนสัตว์และสัตว์ป่าในระดับปริญญาโท และพร้อมเป็นกำลังสำคัญสร้างสรรค์งานวิจัย ปกป้องลูกช้างไทยไม่ให้จากไปสู่ “ดาวช้าง” ก่อนวัยอันควร

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author