ชีวิตที่ท้าทายด้วยเป้าหมายแห่งความสำเร็จเพื่อไปให้ถึง “Capstone” หรือจุดสูงสุด เช่นเดียวกับก้าวสำคัญสู่รั้วอุดมศึกษา จะเดินต่อไปไม่ได้หากไร้ซึ่งความเพียรใฝ่รู้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIDS – Mahidol University International Demonstration School) ในฐานะโรงเรียนนานาชาติมาตรฐานโลก WASC – Western Association of Schools and Colleges สหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งเป้าหมายทางการศึกษาตามแนวทาง “ESLO’s” (Expected Schoolwide Learning Outcomes)
เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียน MUIDS สู่การเป็น “พลเมืองโลก” ได้ออกแบบหลักสูตรให้นักเรียนเกรด 11 หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทุกคน เข้าสู่ “Capstone Project” ริเริ่มโครงการก่อนสำเร็จการศึกษาด้วยตัวเองตามความสนใจ
ที่ผ่านมา MUIDS ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อจุดประกายแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงการก่อนสำเร็จการศึกษา อาทิ “Wednesday Market” เพื่อฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการปีละสองครั้ง “Science Fair” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และ “Young Artist Showcase” เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักเรียนที่รักในภาษาและศิลปะ ให้ได้ค้นพบตัวเองสู่บันไดแห่งวิชาชีพในฝัน
หนึ่งในโครงการซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง MUIDS และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการเป็น “ที่พึ่งทางสุขภาวะ” ของประชาชน แต่ยังเป็น “แหล่งบ่มเพาะ” นักศึกษาแพทย์คุณภาพแหล่งสำคัญของประเทศ และทั่วโลก โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับ “Capstone Project” ของนักเรียน MUIDS ได้แก่ “โครงการ IPE/CP” (Interprofessional Education/Collaborative Practice)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร ตันติวิทยาทันต์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “ผู้จุดประกาย” ทำให้ “โครงการ IPE/CP” อยู่ในใจของนักเรียน MUIDS ทุกคนที่สนใจเข้าสู่เส้นทางแห่งวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต จากการปลูกฝังให้เกิด “Empathy” หรือ “ความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นแพทย์ และบุคลากรสายสุขภาพทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ซึ่ง “โครงการ IPE/CP” ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน MUIDS เกรด 11 เข้าฝึกงานตามความสนใจในหน่วยบริการที่พิจารณาแล้วว่าปลอดภัยต่อนักเรียน โดยเฉพาะช่วง COVID-19 อาทิ ห้องจัดยา ห้องสมุด หรือแม้แต่งานบริการผ้า ฯลฯ นับเป็นช่วงโอกาสที่จะปลูกฝัง Empathy ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับการเป็นนักศึกษาแพทย์ แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ซึ่งต้องมุ่งเรียนรู้และฝึกทักษะวิชาชีพในเชิงลึกเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ให้การรักษาต่อไป
“น้องลิซ” ธัญญรัตน์ ศรีระวีวงศา และ “น้องกิ่ง” กิ่งแก้ว เมตตามิตรพงศ์ นักเรียน MUIDS ปัจจุบันเรียนอยู่เกรด 12 ที่ได้รับโอกาสให้เข้าฝึกงานใน “โครงการ IPE/CP” ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาในขณะที่นักเรียนยังเรียนเกรด 11 โดย “น้องลิซ” มีความสนใจด้านบริหารธุรกิจ ในขณะที่ “น้องกิ่ง” มีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าที่จะเป็นแพทย์
ทั้งสองรู้สึกประทับใจที่ได้รับโอกาสให้เข้าฝึกงานในส่วนบริการต่างๆ ภายในศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องจัดยา นอกจากจะได้รับความรู้เรื่องยาในประเภทต่างๆ แล้ว ยังได้เห็นเบื้องหลังการทำงานของเภสัชกรที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพื่อให้ผู้ป่วยรับและใช้ยาได้อย่างถูกต้องตามแพทย์สั่ง ซึ่งหากเกิดเหตุผิดพลาดอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต ในบางคิวรอรับยาจึงอาจต้องใช้เวลาพอสมควร
จากการฝึกงานครั้งดังกล่าวได้นำมาสู่บทสรุป จาก “น้องลิซ” ที่มองว่าทุกหน่วยงานมีความสำคัญทัดเทียมกัน หากขาดหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดก็จะไม่สามารถส่งมอบคุณค่าการดูแลผู้ป่วยได้ครบถ้วน ในขณะที่ “น้องกิ่ง” เชื่อมั่นว่า ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแพทย์ หรือพยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลล้วนมีความสำคัญ หากปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดี ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับไปได้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
- ภาพจาก โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIDS – Mahidol University International Demonstration School) และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- สัมภาษณ์ และเขียนข่าว โดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210