Headlines

ม.มหิดล ส่งเสริมใช้ยาสมุนไพรไทย ลดเคมี-นำเข้า เพื่อเกษตรกรไทยยั่งยืน

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “ยาตำรับไทย” เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงนิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง “ยาตำรับไทย” 2 ขนาน ที่เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีใช้ในโรงพยาบาลสำหรับบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และฝุ่น PM2.5 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาคุกคามโลก ที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ ได้แก่ ยาตำรับไทย ได้แก่ ยาตำรับไทย “ปราบชมพูทวีป” และ “ประสะเปราะใหญ่”

โดยยาตำรับไทย “ปราบชมพูทวีป” ประกอบด้วยสมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ดร้อน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ลดอาการอักเสบที่ผิวหนังและทางเดินหายใจ บรรเทาอาการภูมิแพ้ได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ชื่อ “Loratadine” ที่มีสรรพคุณในการแก้แพ้ แก้หวัด ลดน้ำมูก ในขณะที่ ยาตำรับไทย “ประสะเปราะใหญ่” ซึ่งประกอบไปด้วย “เปราะหอม” ครึ่งหนึ่งของตำรับ (คำว่า “ประสะ” หมายถึง “ครึ่งหนึ่ง”) ก็มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้ ยาตำรับไทย “ปราบชมพูทวีป” แม้จะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้จากมลพิษฝุ่น PM2.5 ได้แล้ว ยังใช้บรรเทาอาการหวัด แก้ไข้ ในขณะที่ยาตำรับไทย “ประสะเปราะใหญ่” ใช้ได้ทั้งบรรเทาอาการภูมิแพ้จากมลพิษ PM2.5 อาการหวัด แก้ไข้ ท้องอืด ถ่ายเหลว

แม้ยาสมุนไพรจะมาจากธรรมชาติ 100% แต่ก็มีข้อควรระวัง โดยทั้งยาตำรับไทย “ปราบชมพูทวีป” และ “ประสะเปราะใหญ่” ไม่ควรใช้ในรายที่มีไข้จากการติดเชื้อ “ไข้เลือดออก” ซึ่งการรับประทานยาสมุนไพรดังกล่าวเพื่อลดไข้จะบดบังอาการไข้เลือดออกทำให้ยากต่อการวินิจฉัยติดตามอาการของโรคไข้เลือดออก

นอกจากนี้ การรับประทานสมุนไพรต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน จึงควรพิจารณาใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี การรับประทานยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในต่างประเทศก็จะมียาสมุนไพรเอกซ์ไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และนิยมใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แต่สมุนไพรชนิดนี้นิยมปลูกในประเทศเขตหนาว ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ซึ่งยาสมุนไพรนำเข้าจากต่างประเทศมีกลไกราคาที่ขึ้นอยู่กับระยะทางและมูลค่าภาษีนำเข้าเป็นสำคัญ จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค มากกว่าการพิจารณาใช้ยาสมุนไพรที่ปลูกขึ้นได้เองภายในประเทศ เพื่อการดูแลตัวเองและสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author