โดย ป๋วย อุ่นใจ
สิ่งที่ไม่เห็น ไม่จำเป็นต้องไม่มี
ในปี พ.ศ. 2564 ทีมนักวิจัยจากกองทุนสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (endangered wildlife trust: EWT) ลงพื้นที่ในแถบหาดทรายชายฝั่งในประเทศแอฟริกาใต้ ด้วยความคาดหวังเต็มเปี่ยมที่จะสำรวจและศึกษาสิ่งมีชีวิตสุดพิลึก “ตัวตุ่นสีทอง (golden mole)”
ปัจจุบันตัวตุ่นสีทองที่มนุษย์รู้จักทั้งหมดในแอฟริกามี 21 ชนิด มี 10 ชนิดที่มีชื่อติดขึ้นลิสต์บัญชีถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)
ในการสำรวจนี้พวกเขาคาดหวังจะมีเซอร์ไพรส์ดี ๆ รออยู่ อาจเป็นตุ่นสีทองสปีชีส์ใหม่ หรืออาจจะเป็น “ตุ่นสีทองเดอวินตัน (De Winton’s golden mole) ตัวตุ่นในตำนานที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมานานเกือบ 90 ปี
ตุ่นชนิดนี้หายากมาก เดินทางไปไหนก็ไม่ทิ้งร่องรอย พวกมันหายสาบสูญไปจากสายตามนุษย์อย่างสิ้นเชิงราวกับว่าไม่มีตัวตนในโลกใบนี้ ไม่มีใครรู้ว่ายังมีประชากรตุ่นสีทองในตำนานนี้หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติบ้างหรือเปล่า เพราะครั้งสุดท้ายที่มีคนพบเห็นพวกมันก็คือเมื่อปี พ.ศ. 2479
คิดในแง่ดี ไม่เจออาจจะไม่ได้หมายความว่าไม่มี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นทะเบียนตุ่นสีทองเดอวินตันเป็นตุ่นใกล้สูญพันธุ์เข้าขั้นวิกฤต แต่เพื่อให้ชัดเจนก็เลยแอบมีหมายเหตุแนบท้ายในวงเล็บเอาไว้ว่าน้อนนนนน “อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว”
ตอนที่ทีมลงพื้นที่สำรวจตุ่น หลายคนก็มองว่าทะเยอทะยานอย่างเพ้อเจ้อ โพรเจกต์สำรวจและติดตามสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีใครหาพบมาเกือบศตวรรษเป็นอะไรที่ฟังดูไม่เข้าท่าเอาอย่างแรง
แต่สำหรับโคบัส เทรอน (Cobus Theron) นักวิจัยของ EWT นี่คือเรื่องที่ “ท้าทาย” ที่จะได้ค้นพบอะไรที่ “ดูแล้วยังไงก็เป็นไปไม่ได้”
“ผมจะไม่โกหกหรอกนะ ทุกคนต่างก็จ้องมองงานนี้ด้วยความสงสัย” โคบัสกล่าว สายตาของผู้เชี่ยวชาญมากมายที่มองมาฉายแววเคลือบแคลงสงสัย หลายคนเชื่อมั่นว่านี่คือการผลาญเงินวิจัยไปอย่างไม่เข้าท่า เพราะท้ายที่สุดงานนี้ก็น่าจะคว้าน้ำเหลว
ซาแมนทา มายน์ฮาร์ดต์ (Samantha Mynhardt) นักวิจัยอีกคนในทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยพรีทอเรีย (University of Pretoria) เล่าว่ามีผู้เชี่ยวชาญตัวตุ่นคนนึงถึงขนาดเตือนเธอแบบไม่ไว้หน้าเลยว่า “เธอกำลังจะเสียเวลาไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ยังไงเธอก็จะไม่เจอเจ้าตุ่นนั่นหรอก เพราะว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว”
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหมดกำลังใจแต่อย่างใด โคบัสเผยว่าพวกเขาตื่นเต้นและพร้อมเดินหน้าเต็มที่กับงานนี้ แต่เพื่อความชัวร์ พวกเขาต้องการหาให้ได้ก่อนว่ามีโอกาสสักแค่ไหนที่จะได้พบเจอตุ่นเดอวินตันในตำนาน ก่อนที่จะทุ่มสุดตัว
ตุ่นเดอวินตันมีร่างกายเล็กจิ๋วตะมุตะมิขนาดที่สามารถหยิบเอามาวางในฝ่ามือได้ เป็นตุ่นที่หายากมากกกกก ขนของมันมีสีทองระยิบ น้ำมันที่ขนของมันทำให้เส้นขนเงางามดูเป็นประกายวิบวับสวยงามยามต้องแสงแดด
แต่การจะหาตัวพวกมันเจอนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร พวกมันอาศัยอยู่ในเนินทรายชายฝั่งในเมืองพอร์ตนอลลอร์ท (Port Nolloth) ในประเทศแอฟริกาใต้
เนินทรายชายฝั่งในเมืองพอร์ตนอลลอร์ท (Port Nolloth) ในประเทศแอฟริกาใต้
ที่มาภาพ : JP Le Roux via Re:wild
ตาสองข้างของพวกมันบอดสนิท แต่ประสาทหูนั้นกลับไวเป็นพิเศษ ช่วยให้พวกมันสามารถไล่ล่า หลบหลีก และเร้นกายได้อย่างรวดเร็วภายใต้ผืนทรายอันไพศาล
ด้วยกล้ามเนื้อขาหน้าที่แข็งแรง พวกมันเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่วราวกับแหวกว่ายอยู่ในผืนทรายที่ร่วนซุย และหลังจากที่พวกมันเคลื่อนผ่านไป ทรายด้านบนก็จะทลายลงมาปกปิดเส้นทางที่พวกมันเคยสัญจรผ่านจนแทบไม่มีร่องรอยอะไรหลงเหลือให้ติดตาม
พวกเขาต้องการการวางแผนที่รัดกุมและแยบยล ถ้าอยากจะตามหาและไล่ล่าตุ่นสีทองในตำนานที่เคลื่อนไหวไปมาไร้ร่องรอยอยู่ใต้ดินราวกับนินจา แถมแทบจะไม่เคยโผล่ร่างออกมาจากผืนทรายเลยแม้แต่น้อย
ทีมวิจัยตัดสินใจฝึกน้องหมาพันธุ์บอร์เดอร์คอลลีชื่อ “เจสซี (Jessie)” ให้ตามกลิ่นตัวตุ่นสีทอง และในทุกที่ที่เจสซีส่งสัญญาณให้ พวกเขาก็จะเก็บตัวอย่างทราย (และดิน) จากบริเวณนั้นมาสกัดดีเอ็นเอ พร้อมวางหลุมดักตุ่นเอาไว้ด้วย
“สิ่งมีชีวิตทิ้งดีเอ็นเอเอาไว้ในสิ่งแวดล้อมที่พวกมันสัมผัส เราสามารถแยกดีเอ็นเอนั้นออกมาจากดินและจำแนกชนิดของเจ้าของดีเอ็นเอพวกนั้นได้” โคบัสกล่าว เทคนิคนี้เรียกว่าการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากสิ่งเเวดล้อม (environmental DNA) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า eDNA
การวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากสิ่งเเวดล้อมนี้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองมากโดยเฉพาะในวงการอนุรักษ์ งานวิจัยนำโดยอลิซาเบท แคลร์ (Elizabeth Clare) จากมหาวิทยาลัยควีนส์ แมรี แห่งลอนดอน (Queen Mary University of London) ที่ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร PeerJ ในปี พ.ศ. 2564 ชี้ชัดว่าดีเอ็นเอนั้นมีทุกที่แม้ในอากาศ และดีเอ็นเอพวกนี้ถ้าเก็บมาวิเคราะห์อย่างเหมาะสม เราก็สามารถใช้มันระบุสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมในแถบนั้นได้
และเพื่อพิสูจน์ อลิซาเบททดลองต่อท่อดูดอากาศออกมาจากกรงตุ่นหนูไร้ขน (naked mole rat) ในห้องแล็บของเธอเพื่อดักจับดีเอ็นเอจากอากาศในกรงเลี้ยง
“ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อเยื่อหรือว่าเส้นขนก็หาเจอได้” อลิซาเบทกล่าว
และผลของเธอก็ชัดแจ่ม แม้ตุ่นหนูไร้ขนจะไม่มีขนอะไรให้หลุดปนเปื้อนออกมา ทว่าอากาศจากกรงของพวกมันนั้นกลับยังคงมีดีเอ็นเออยู่อย่างเหลือเฟือมากพอที่จะเอามาสกัด และส่งไปหาลำดับพันธุกรรมเพื่อจำแนกสปีชีส์ได้อย่างสบาย ๆ
และแน่นอนดีเอ็นเอที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะระบุชี้ชัดว่าเจ้าของดีเอ็นเอที่ขุดรูซ่อนตัวอยู่กันอย่างมากมายในกรงก็คือ “ตุ่นหนูไร้ขน” ตรงตามที่คาดหวังเป๊ะ
ถ้าเทคนิค eDNA สามารถเอามาใช้กับตุ่นหนูไร้ขนแล้วได้ผลออกมาเวิร์ก มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เทคนิคนี้จะไม่เวิร์กในกรณีตุ่นสีทองเดอวินตัน
แรงบันดาลใจมาเต็มเปี่ยม ถ้ายังมีตุ่นสีทองเดอวินตันในพื้นที่ สกัดดีเอ็นเอออกมาแล้วต้องเจอ ทีมนักวิจัยไล่เก็บทรายจากชายฝั่งประเทศแอฟริกาใต้มานับร้อยตัวอย่าง และในระหว่างที่เก็บดีเอ็นเอจากหาดทรายชายฝั่งในเมืองพอร์ตนอลลอร์ท แหล่งสุดท้ายที่มีคนเคยรายงานว่าเจอตุ่นสีทองเดอวินตัน พวกเขาก็เจอตุ่นสีทองเดอวินตันในตำนานติดอยู่ในหลุมดักอยู่หนึ่งตัว และนั่นคือตุ่นสีทองเดอวินตันตัวเป็น ๆ ตัวแรก (จากทั้งหมดสองตัว) ที่พวกเขาเจอในโพรเจกต์นี้
โคบัสเล่าต่อไปอีกว่า “พวกเราตื่นเต้นกันมาก บางคนถึงกับลุกขึ้นมากระโดดลิงโลดไปด้วยความยินดี”
แต่พวกเขาก็ยังไม่อยากเชื่อว่าจะฮิตแจ็กพอตได้เจอกับตุ่นเดอวินตันที่เชื่อกันว่าน่าจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปแล้วหลายสิบปีแบบตัวเป็น ๆ
เพื่อให้มั่นใจ พวกเขาใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าที่จะเทียบลำดับดีเอ็นเอกับตัวอย่างอ้างอิงในพิพิธภัณฑ์ได้สำเร็จ
พวกเขาตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาแล้วในวารสาร Biodiversity and Conservation ให้โลกได้รู้ว่าตุ่นหน้าตาประหลาดที่เขาเจอคือตุ่นสีทองในตำนานตัวจริงเสียงจริง !! พวกมันยังไม่สูญพันธุ์
โคบัสและทีมตื่นเต้นมาก “นี่คือการค้นพบพวกมันแบบตัวเป็น ๆ ครั้งแรกในรอบแปดสิบกว่า…เกือบเก้าสิบปี”
ซึ่งถ้ามองว่าโลกร้อน โลกรวน โลกเดือด และกิจกรรมอีกหลายอย่างของมนุษย์กำลังบ่อนทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใบนี้ไปอย่างรวดเร็วจนแทบกู่ไม่กลับ การที่ได้รับรู้ว่าบางอย่างที่เราเชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจนไม่เหลือหลอ แท้จริงแล้วยังพอมีอยู่รอดได้ในธรรมชาติ ทำให้เราตระหนักถึงพลังแห่งการปรับตัวอันน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และควรจะวางแผนจัดสรรพื้นที่อย่างไรเพื่อปกปักและอนุรักษ์พวกมันให้คงอยู่ต่อไปในโลกใบนี้
การเจอตุ่นใกล้สูญพันธุ์อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้ !!
ไม่แน่ว่าบางทีเซอร์ไพรส์ดี ๆ อาจจะเกิดขึ้นได้อีก