จัดการ “ศัตรูทุเรียน” ด้วย “ชีวภัณฑ์” แบบครบวงจร

ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


ใกล้เข้าฤดูร้อนแล้ว แม้อากาศจะร้อนสาหัสแค่ไหน แต่เป็นช่วงเวลาที่มีผลไม้หลากชนิดให้คลายความร้อน (ใจ) ได้ไม่น้อย หนึ่งในผลไม้ยอดนิยมหนีไม่พ้น “ทุเรียน” ราชาผลไม้ที่ครองใจใครหลายคน แต่กว่าจะได้ผลผลิตส่งถึงคนรักทุเรียนได้ลิ้มลอง ชาวสวนต้องประคบประหงมและลุ้นให้ได้ผลผลิตที่จะสร้างเม็ดเงินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพอากาศในปัจจุบันส่งผลต่อการจัดการสวนทุเรียนอย่างมาก ทั้งโรคพืช แมลงศัตรูพืชหรือแม้แต่ปริมาณน้ำ

สวนทุเรียนส่วนใหญ่ยังคงใช้สารเคมีเป็นเครื่องมือจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของสวน อย่างไรก็ตามด้วยวิธีการทำสวนที่ใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องบวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้การจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชทำได้ยากขึ้น อีกทั้งเมื่อชาวสวนคำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น “ชีวภัณฑ์” จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจ ซึ่งทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้จัดทำ “คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร” (Standard Operatcing Procedure (SOP) for Integrated Pest Management by Biocontrol Agents in Durian) หลังจากร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ในสวนทุเรียน 4 แห่งในจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี ถือได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับชาวสวนทุเรียนที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้ปลอดภัยต่อทั้งตัวเองและผู้บริโภค


คิวอาร์โคดอ่านคู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร

รู้จัก “ศัตรูทุเรียน”

โรคพืชที่พบในทุเรียน เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคกิ่งแห้ง โรคแอนแทรกโนส โรคใบจุดสาหร่าย โรคใบติดใบไหม้ โรคราแป้ง โรคราดำ สำหรับแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในแปลงทุเรียน ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยหอยเกล็ด เพลี้ยจักจั่นฝอย เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง


โรครากเน่าโคนเน่า Phytophthora palmivora

แต่ละช่วงระยะการเจริญเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ระยะแตกใบ แทงช่อดอก ดอกบาน ติดผลและผลแก่ สามารถพบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายได้ ความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการบริหารจัดการแปลงของชาวสวน

รู้จัก “ชีวภัณฑ์” ในสวนทุเรียน

“ชีวภัณฑ์” คือ จุลินทรีย์หรือผลผลิตของจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายศัตรูพืชได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ซึ่งชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม แบคทีเรียบีที ไวรัสเอ็นพีวี
  • ชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืช เช่น ราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบาซิลลัส

การใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องใช้ “ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี” ซึ่งเกษตรกรสวนทุเรียนต้องหมั่นสำรวจแมลงศัตรูพืชและโรคพืชอย่างน้อยทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงฝนตกชุก ระยะแตกใบอ่อน ติดดอกและช่วงใกล้เก็บผลผลิต เลือกใช้ชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชนิดของโรคและแมลง เนื่องจากชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อโรคและแมลงที่แตกต่างกัน แหล่งที่มาของชีวภัณฑ์น่าเชื่อถือและมีวิธีเก็บรักษาที่เหมาะสม ไม่เก็บในที่ร้อนหรือมีแสงแดดส่อง ใช้ในสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือค่ำ ความชื้นสูง (>70% RH) ควรให้น้ำในแปลงก่อนฉีดพ่น จดบันทึกการระบาดของโรค-แมลงศัตรูพืชตามช่วงเวลาและชีวภัณฑ์ที่ใช้ป้องกัน/กำจัด เพื่อเป็นข้อมูลรับมือศัตรูพืชในรอบผลิตถัดไป

คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจรฯ ได้ให้คำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์กับทุเรียนดังรูป

จากภาพจะเห็นได้ว่าโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปทอรา (Phytophthora palmivora) เป็นหนึ่งโรคสำคัญที่สร้างปัญหาให้ชาวสวนทุเรียนและพบการเข้าทำลายได้ตลอดระยะการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน ต้นทุเรียนที่ได้รับเชื้อรานี้ ลำต้นมีแผลเน่าคล้ำ เมื่อขูดแผลพบอาการฉ่ำน้ำ ส่วนใบมีลักษณะไหม้สีน้ำตาลคล้ำ

เกษตรกรสามารถตรวจเชื้อสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยใช้วิธีล่อเชื้อ (baiting method) เป็นการใช้เหยื่อล่อเชื้อโรคพืชที่มาจากดินหรือน้ำที่ใช้รดต้นไม้ เหยื่อล่อที่เหมาะสมเป็นส่วนของราก ใบ หรือผลของพืชที่ปลูก เพราะเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคพืช แต่ที่นิยมใช้คือส่วนของใบพืชนอกจากใช้ใบทุเรียนอ่อนแล้ว ยังใช้ใบไชยาซึ่งมีความไวต่อเชื้อ ใบมีขนาดใหญ่ ไม่จมน้ำ ทำให้สังเกตโรคได้ง่าย


คลิปวิดี โอการผลิตก้อนเชื้อไตรโคเดอร์มา

กรณีพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เกษตรกรสามารถใช้ไตรโคเดอร์มารักษาแผลจากโรคได้ ซึ่งเกษตรกรคุ้นเคยกับราไตรโครเดอร์มาและสามารถผลิตใช้เองได้

ชีวภัณฑ์เป็นปัจจัยการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค การใช้ให้ได้ผลจึงต้องมีความรู้และความเข้าใจเป็นสำคัญ ด้วยชีวภัณฑ์ได้จากสิ่งมีชีวิต กลไกการออกฤทธิ์จึงต้องใช้ระยะเวลา เกษตรกรจึงต้องใช้ให้ “ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี” สำหรับทุเรียนซึ่งมีศัตรูหลากหลาย การใช้ชีวภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถรับมือได้อยู่หมัด ชาวสวนทุเรียนสามารถใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมีได้ดังคำแนะนำในคู่มือฯ

นอกจากการจัดทำ “คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร” แล้ว ทีมวิจัยไบโอเทคยังได้พัฒนาระบบ DAPBot (แดปบอท) บน Line OA ที่พร้อมเป็นผู้ช่วยให้เกษตรกรจำแนกศัตรูพืชและเข้าถึงชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเกษตรชั้นนำทั่วประเทศคอยตอบปัญหาโรค-แมลงและแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งรวบรวมบริษัทจำหน่ายชีวภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ควบคู่กับระบบตรวจสอบสภาพอากาศ DragonFly” จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อช่วยพยากรณ์อากาศ ทำให้ใช้ชีวภัณฑ์ได้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น …อยากได้ผู้ช่วยแล้ว เพิ่มเพื่อนได้ที่ Line ID: @dapbot


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • “คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร” (Standard Operating Procedure (SOP) for Integrated Pest Management by Biocontrol Agents in Durian)
  • เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์”, ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

About Author