“จอมปลวก” (Termite mound) ที่พบได้ตามธรรมชาติ เป็นอาณาจักรของ “ปลวก” (Termite) แมลงผู้ทำหน้าที่ย่อยสลายในระบบนิเวศ ที่ให้ทั้งคุณและโทษได้ในขณะเดียวกัน
ซึ่งหากมองด้านความสำคัญทางเศรษฐกิจ นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย
อาจารย์ไพพรรณ แพเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของ “จอมปลวก” ว่าอุดมไปด้วยอินทรียวัตถุที่เป็น “อาหารของพืช” ที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยที่สั่งตัดได้ตามความต้องการของพื้นที่เพาะปลูก
ในทางนิเวศวิทยาปลวกมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในป่าไม้ โดยปลวกจัดเป็นผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ในป่าธรรมชาติซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกับเชื้อราและแบคทีเรีย พบว่าประมาณสามในสี่ของขยะธรรมชาติ เช่น ซากพืช เศษไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ หรือต้นไม้ที่หักล้มร่วงหล่นทับถมกันอยู่ในป่า ปลวกทำหน้าที่ช่วยในการย่อยสลายให้ผุพังและเปลี่ยนแปลงไปเป็นอินทรียวัตถุภายในดิน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของธาตุอาหารในดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในป่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้
จากองค์ประกอบของดินผสานด้วยสิ่งที่ปลวกย่อยสลาย จากอินทรียวัตถุชิ้นใหญ่ สู่อินทรียวัตถุชิ้นเล็กผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในจอมปลวก ซึ่งหากถูกทำลาย หรือนำมาใช้ประโยชน์จะเป็นส่วนที่ “ปลวกงาน” ซ่อมแซมขึ้นเองได้ก่อนเป็นส่วนแรก
โดยจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านเห็ดโคนที่เกิดจากดินจอมปลวก (Termite Mushroom) ที่ให้ดอกขนาดใหญ่ เนื้อและรสชาติดี
ซึ่งการนำดินจอมปลวกมาทำเป็นปุ๋ย นอกจากจะสามารถต่อยอดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายจากปัญหาปลวกทำลายไร่อ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี จากการนำดินจอมปลวกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
โดย อาจารย์ไพพรรณ แพเจริญ ยังมีงานวิจัยเพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของจอมปลวก และชนิดของปลวกภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งพบว่าดินที่ฐานจอมปลวกส่วนใหญ่เป็นดินตะกอนทรายปนกรวด เนื่องจากพื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่จะมีหินโผล่ และเป็นเนินภูเขา ส่งผลให้ดินชั้นบนมีการสะสมของดินตะกอนทรายมากกว่าดินทรายแป้ง และดินเหนียวที่มีค่าสัดส่วนใกล้เคียงกัน ปลวกจึงเลือกใช้ดินชั้นบนในการนำไปสร้างรัง จากงานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางการเกษตร และป่าไม้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210