นักวิจัยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI วิเคราะห์เสียงเรียกกันของช้างสะวันนา

นักวิจัยนานาชาติใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์เสียงการเรียกกันของช้างสะวันนาแอฟริกา 2 โขลงในประเทศเคนยา ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้รู้ว่าช้างร้องเรียกหากันโดยใช้ชื่อเฉพาะตัวที่พวกมันสร้างกันขึ้นมาเอง

ในขณะที่โลมาและนกแก้วสามารถพูดคุยกันด้วยการเลียนเสียงกัน แต่นักวิจัยพบว่าช้างอาจเป็นสัตว์ชนิดแรกนอกเหนือจากมนุษย์ที่ใช้เสียงเรียกชื่อกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเลียนแบบเสียง

นักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา รายงานว่า จากการศึกษาเสียงช้างที่บันทึกไว้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2529- 2565 ในเขตอนุรักษ์แห่งชาติแซมบูรู (Samburu National Reserve) และอุทยานแห่งชาติแอมโบเซลี (Amboseli National Park) ประเทศเคนยา พบว่า ช้างตอบสนองต่อเสียงเรียกที่จำเพาะกับตัวมันได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ไม่ตอบสนองกับเสียงเรียกที่จำเพาะกับช้างตัวอื่น ซึ่งช่วยสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่าช้างมีชื่อจำเพาะของตัวเอง

ด้วยระบบการสื่อสารนี้ช่วยให้ช้างรักษาความผูกพันทางสังคม และประสานงานระหว่างกันจากระยะไกล ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีชีวิตรอดในป่า

แต่นักวิจัยก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าส่วนไหนของเสียงช้างที่เป็นชื่อ ประกอบกับย่านเสียงของช้างนั้นอยู่ในพิสัยที่ต่ำกว่ามนุษย์จะได้ยิน จึงต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เราเข้าใจในเรื่องการสื่อสารของช้างให้มากขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง

About Author