สวรรค์ของกระทิง ณ เขาแผงม้า (จริงเหรอ ?)

AGB Research Unit Team
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


กระทิง (Bos gaurus) เป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทสำคัญด้านการกระจายพันธุ์พืชและเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่ง เสือดาว ในอดีตกระทิงพบได้ทั่วทั้งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรของกระทิงลดลงอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การถูกล่าจากมนุษย์ และโรคระบาด

ในประเทศไทยคาดว่ามีประชากรกระทิงเหลืออยู่ประมาณ 915 ตัว จากการประเมินประชากรกระทิงในปี พ.ศ. 2538 โดยสถานภาพการอนุรักษ์กระทิงทั่วโลกตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มีสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ส่วนสถานภาพในประเทศไทยตาม Thailand Red Data ในปี พ.ศ. 2560 กระทิงมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และกระทิงยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562 อีกด้วย ปัจจุบันกระทิงมีการกระจายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า


ขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 8 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,000 ไร่ จากพื้นที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร (หรือประมาณ 11,250 ไร่) ของเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงมากในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการจัดการประชากรและถิ่นอาศัยของกระทิงอย่างยั่งยืนร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) จึงมีผู้คนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อชมกระทิงป่าที่บริเวณจุดสกัดเขาสูง แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและป่าเสื่อมโทรมที่ได้รับการฟื้นฟู จนมีกระทิงอพยพจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาอยู่ในบริเวณเขาแผงม้าแล้วสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้ประชากรของกระทิงในพื้นที่เขาแผงม้าเพิ่มขึ้นจาก 6 ตัวเป็น 100 ตัว ภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 15 ปี (พ.ศ. 2538–2552) และจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประชากรกระทิงได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 250-300 ตัว ซึ่งจัดเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของการฟื้นฟูประชากรกระทิงตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามจากการวิจัยล่าสุดของคณะทำงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อได้สุ่มจับกระทิง 13 ตัว มาศึกษาพันธุกรรมด้วยดีเอ็นไมโทคอนเดรีย (ดีเอ็นเอสายแม่) พบว่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรม เพียงแค่ 3 แบบ (แฮโพลไทด์, haplotype) เท่านั้น แสดงเห็นได้ว่าประชากรกระทิงที่เขาแผงม้าอาจมีความหลากหลายต่ำมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการอยู่รอดในระยะยาวหากเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ เช่น โรคระบาด ปัญหาของการปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และสภาพเลือดชิด ซึ่งอาจทำให้กระทิงที่เขาแผงม้าสูญหายไปในที่สุด

เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกพบว่าสภาพของความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำอาจเกิดจากกลไกที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ผู้ก่อตั้ง (founder effect) จากประชากรกระทิงป่าไม่กี่ตัวซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำแต่แรกเริ่ม เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เขาแผงม้า ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรกระทิงจะเพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงที่ แต่ความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระทิงเขาแผงม้าอยู่ในภาวะวิกฤตและมีแนวโน้มที่ความสามารถทางพันธุกรรมของประชากรจะลดตัวลงในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นการเฝ้าระวังและประเมินสถานะทางพันธุกรรมของประชากรกระทิงที่เขาแผงม้าอย่างต่อเนื่องจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกระทิงจากแหล่งอื่นเข้ามาผสมพันธุ์และเติมความหลากหลายทางพันธุกรรมให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพันธุกรรมแปลกปลอมของกระทิงจากต่างถิ่น หรือที่เรียกว่า outbreeding เข้ามารวมในประชากรกระทิงที่เขาแผงม้า ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเนื่องทั้งระดับประชากรและระบบนิเวศที่มีอยู่


ปรากฏการณ์ผู้ก่อตั้ง (founder effect) เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายออกจากกลุ่มประชากรดั้งเดิมแยกตัวไปตั้งกลุ่มใหม่ รูปแบบพันธุกรรมในกลุ่มใหม่ที่ได้รับแบบสุ่มจากประชากรเดิม ซึ่งพิจารณาได้จาก (A) แอลลีลและจีโนไทป์ที่ถ่ายทอดจากพ่อและแม่ในทางพันธุกรรม (mendelian inheritance หรือ nuclear inheritance) หรือ (B) รูปแบบพันธุกรรมทางสายแม่ (maternal inheritance) หรือที่เรียกว่าแฮโพลไทด์ จากดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย อาจไม่เหมือนกับกลุ่มประชากรเดิมเลย โดยมากแล้วจำนวนแอลลีลจากยีนบางอย่างหรือรูปแบบของแฮโพลไทด์ประชากรดั้งเดิมจะมากกว่าจำนวนแอลลีลหรือแฮโพลไทด์ที่มีอยู่ในกลุ่มก่อตั้งใหม่ ถ้ากลุ่มก่อตั้งใหม่มีขนาดเล็ก สิ่งมีชีวิตที่เป็น “ผู้ก่อตั้ง” จะมีอิทธิพลสูงมากต่อการกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมของประชากรที่เกิดขึ้นใหม่จากกลุ่มก่อตั้งต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้โดยธรรมชาติกระทิงอาศัยอยู่เป็นกลุ่มสังคม ประกอบด้วยตัวผู้ที่ยังเล็ก ตัวเมียที่โตเต็มวัย และรุ่นลูกกระทิง ตัวเมียที่โตเต็มวัยเป็นแม่กระทิงและมีอิทธิพลต่อขนาดและโครงสร้างของกลุ่ม ตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักจะอยู่ลำพัง การวางแผนจัดการเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อของผืนป่าบริเวณใกล้เคียงซึ่งถูกตัดขาดจากการสร้างถนนหรือการขยายพื้นที่ของชุมชนเมืองเช่น ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการสร้างทางเดินของสัตว์ป่าให้กระทิงเคลื่อนย้ายระหว่างผืนป่าได้และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระทิงที่เขาแผงม้าให้ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้กระทิงเหล่านี้อยู่ที่เขาแผงม้าได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ชุมชนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนประชากรกระทิงได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเกษตรกรในท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับความเสียหายของพืชผลจากการบุกรุกของกระทิงในพื้นที่การเกษตรของกระทิงในไร่นา แม้ว่าโครงการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ของคนในท้องที่ แต่ปัญหาการบุกรุกของกระทิงสู่แหล่งที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่เกษตรกรรมยังคงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับกระทิงต่อเนื่อง การแก้ปัญหาดังกล่าวจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยจึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Duengkae, P., Ariyaraphong, N., Tipkantha, W., Jairak, W., Baicharoen, S., Nguyen, D. H. M., … & Srikulnath, K. (2022). Coincidence of low genetic diversity and increasing population size in wild gaur populations in the Khao Phaeng Ma Non-Hunting Area, Thailand: A challenge for conservation management under human-wildlife conflict. Plos one17(8), e0273731.
  • Prayoon, U., Suksavate, W., Chaiyes, A., Paansri, P., Siriaroonrat, B., Utara, Y., … & Duengkae, P. (2024). Home range and habitat utilization of gaur (Bos gaurus) in transition zone between protected forest and human-dominated landscape, Eastern Thailand. Global Ecology and Conservation50, e02811.

About Author