อัปเดตเรื่องราว “ไมโครและนาโนพลาสติก”

เรื่องโดย
ป๋วย อุ่นใจ


เมื่อเดือนก่อน ผมได้ไปเข้าร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีของศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและะพิษวิทยา (Center of Excellence on Environmental Health and Toxicology) ในปีนี้มีแก่นสารน่าสนใจเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ซึ่งก็คือชิ้นพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และ “นาโนพลาสติก” ซึ่งก็คือชิ้นพลาสติกขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร

แม้ว่าขนาดจะเล็กจิ๋ว แต่ปัญหามลพิษจากไมโครและนาโนพลาสติกนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่จะจินตนาการได้ เพราะความต้องการในการใช้พลาสติกที่มีอยู่อย่างมหาศาล แค่ในปี พ.ศ. 2562 ปีเดียว ก็มีการทิ้งขยะพลาสติกออกมาเกินกว่า 350 ล้านตันแล้ว

มีการประมาณการเอาไว้ว่าด้วยความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น จากจำนานประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณขยะพลาสติกจากฝีมือมนุษย์อาจจะพุ่งทะยานไปแตะหลักพันล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2603 ซึ่งเป็นอะไรที่สยองมาก เพราะยิ่งมีการใช้พลาสติกเยอะ ไมโครและนาโนพลาสติกก็ยิ่งปนเปื้อนเยอะ ในเวลานี้ก็ไปทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่ร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลกอย่างร่องลึกมาเรียนา (Mariana Trench) ไปจนถึงบนท้องฟ้าขั้วโลกสุดชั้นบรรยากาศโลกในทวีปอาร์กติก

เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจ แม้แต่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนายังไม่รอด

แพลงก์ตอนสัตว์สวาปามไมโครพลาสติกเข้าไป และไมโครพลาสติกก็จมลงไปกับมูลของมันอลินา เวียซซอเร็ก (Alina Wieczorek) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์ (National University of Ireland) กล่าว

จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2561 โดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) พบไมโครพลาสติกมากกว่าสองพันชิ้นในตัวอย่างน้ำ 1 ลิตรจากส่วนที่ซกมกที่สุด 36,000 ฟุตใต้ระดับน้ำทะเลในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา

เป็นอะไรที่น่าตกตะลึงมาก ทีมวิจัยในตอนนั้นสนใจสำรวจแค่เพียงไมโครพลาสติก แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับนาโนพลาสติก เนื่องจากเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ที่จำกัดที่ทำให้การศึกษานาโนพลาสติกที่เล็กจนดูไม่ต่างจากฝุ่นผงภายใต้กล้องจุลทรรศน์

และที่จริงแล้ว ด้วยขนาดที่เล็กเสียยิ่งกว่าเซลล์ มีความเป็นไปได้ว่านาโนพลาสติกอาจจะเป็นพิษกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งกว่าไมโครพลาสติกเสียอีก

ในปี พ.ศ. 2566 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ได้พัฒนาวิธีการแบบใหม่ที่เรียกว่า เทคนิคการกระเจิงแสงแบบรามานแบบจำลองไฮเปอร์สเปกตรัล (hyperspectral stimulated raman scattering: SRS) เพื่อตรวจหานาโนพลาสติกในน้ำบรรจุขวด

ด้วยเทคโนโลยีใหม่ พวกเขาพบพลาสติกจิ๋วนาโนและไมโครรวมกันกว่าแสนชิ้นในน้ำหนึ่งลิตรของน้ำบรรจุขวด ในเปเปอร์ “Rapid single-particle chemical imaging of nanoplastics by SRS microscopy” ที่พวกเขาตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Proceedings of National Academy of Sciences USA บอกแค่ว่าพวกเขาตรวจสอบน้ำสามยี่ห้อแต่ไม่ได้บอกว่าตรวจน้ำขวดยี่ห้ออะไร เก็บมานานแค่ไหน แต่ด้วยตัวเลขก็เป็นอะไรที่น่าตกใจมากแล้ว เพราะมากกว่าที่เคยมีประมาณการไว้กว่า 100 เท่า

น่าตกใจแม้เราจะรู้ว่าพบไมโครพลาสติกอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ทั้งเลือด ปอด รก หรือแม้แต่ลำไส้ แน่นอนว่าสารเคมีหลายชนิดในพลาสติกไม่ได้เป็นมิตรกับร่างกายขนาดนั้น บางชนิดอาจจะส่งผลต่อร่างกายโดยตรงเลยก็เป็นได้ และนั่นเป็นเรื่องที่น่ากังวล

แต่ถ้ามองในแง่ของพิษโดยตรงของไมโครและนาโนพลาสติก เรายังไม่รู้มากนัก ที่จริงเราเพิ่งจะเริ่มระแคะระคายเมื่อไม่นานมานี้เองว่าไมโครและนาโนพลาสติกมีผลกับร่างกายมนุษย์อย่างไร

ทีมวิจัยนำโดย เจ่อหวา หยาน (Zehua Yan) จากมหาวิทยาลัยหนานจิง (Nanjing University) ในประเทศจีน ได้ค้นพบความสัมพันธ์ของไมโครพลาสติกกับภาวะลำไส้อักเสบ และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของเขาลงในวารสาร Environmental Science & Technology ในปี พ.ศ. 2565 และต่อมาในปี พ.ศ. 2567 ราฟาเอล มาร์เฟลลา (Raffaele Marfella) แพทย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกัมปาเนีย ลุยจิ วันวีเตลลี (University of Campania Luigi Vanvitelli) ในประเทศอิตาลี และทีมจากอีกหลายสถาบัน ได้ตีพิมพ์งานวิจัยออกมาในวารสาร New England Journal of Medicine ค้นพบว่าไมโครและนาโนพลาสติกน่าจะมีผลโดยตรงกับภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ พวกเขาพบเศษพลาสติกจิ๋วในผู้ป่วยกว่าครึ่ง งานนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงอิทธิพลที่น่าตระหนกของไมโครและนาโนพลาสติก

นอกจากจะก่อปัญหาในร่างกายแล้ว ไมโครพลาสติกยังเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียและไวรัสก่อโรคมากมาย ชิ้นไมโครพลาสติกชิ้นหนึ่งอาจจะมีแบคทีเรียและไวรัสยึดเกาะอยู่จนแทบจะเป็นหมู่บ้านเลยก็เป็นได้ นั่นหมายความว่านอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์แล้ว ยังอาจเป็นพาหะนำพาเชื้อก่อโรคไปติดต่อในสังคมมนุษย์อีกด้วย

กระแสความน่าสะพรึงกลัวของมลพิษไมโครและนาโนพลาสติกทำให้ทั่วโลกเริ่มกระตือรือล้นมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2566 สหภาพยุโรปออกกฎสั่งจำกัดการใช้ไมโครพลาสติก เช่น ไมโครบีด ในผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดในยุโรป ในขณะที่สมัชชาสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (UN Environmental Assembly) ได้มีมติร่วมกับอีก 175 ประเทศทั่วโลก พัฒนาสนธิสัญญาพลาสติกสากล ซึ่งฉบับร่างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2567 นี้

ก็คงต้องรอดูต่อไปว่าแต่ละภาคส่วนจะเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับเรื่องนี้ แม้จะช่วยให้ชีวิตง่ายและสะดวก แต่ด้วยผลกระทบก็น่ากลัวแบบไม่ธรรมดา

เพราะถ้าหาทางแก้ไขไม่ทัน รุ่นต่อไปอาจจะต้องอยู่ในสังคมจมพลาสติกเป็นแน่แท้

About Author