รู้จัก รู้ใช้ รู้ผลิต ‘ชีวภัณฑ์คุณภาพ’ ไว้ใช้เอง

เสาวนีย์ ปานประเสริฐกุล
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


ปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อความต้องการอาหารปลอดภัยของผู้บริโภคสูงขึ้น เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตจึงต้องปรับเปลี่ยนกรรมวิธีผลิตพืชผักและผลไม้โดยไม่พึ่งพาสารเคมี และใช้ “ชีวภัณฑ์” เป็นเครื่องมือช่วยจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืช

การใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ประสิทธิภาพ เกษตรกรต้องรู้จักโรคพืช แมลงศัตรูพืช ชนิดชีวภัณฑ์และกระบวนการออกฤทธิ์ของชีวภัณฑ์นั้นๆ

โรคพืช คือ การเกิดความผิดปกติในส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ

แมลงศัตรูพืชเป็นหนึ่งในศัตรูพืชสำคัญของการทำเกษตรที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต จำแนกได้ตามลักษณะสัณฐานวิทยาของแมลง เช่น กลุ่มแมลงปากกัด (หนอนกระทู้ผัก หนอนชอนใบ ฯลฯ) แมลงปากดูด (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ฯลฯ) แมลงบางชนิดทำลายพืชได้หลายหลาก และบางชนิดทำลายแบบเจาะจงพืช

ชีวภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต เป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชีวภัณฑ์จากพืช ได้แก่ สารสกัดจากพืชและกลุ่มของน้ำมันหอมระเหย และชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ มีทั้งจากตัวจุลินทรีย์เองและสารที่จุลินทรีย์ปล่อยออกมา โดยจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ผลิตชีวภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้จากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และไส้เดือนฝอย

ชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจุลินทรีย์กำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืช เช่น ราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) และแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส หรือบีเอส (Bacillus subtilis) กลุ่มจุลินทรีย์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria) ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) ไวรัสเอ็นพีวี (nucleopolyhedrovirus: NPV) แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือบีที (Bacillus thuringiensis) ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีมา (Steinernema) หรือ EPN (entomopathogenic nematode)

การเลือกใช้ชีวภัณฑ์ต้องเข้าใจถึงกลไกการออกฤทธิ์ของชีวภัณฑ์แต่ละชนิด โดยเฉพาะชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ต้องใช้ระยะเวลาหลายวันกว่าจะเห็นผลที่แสดงกับพืชหรือแมลงศัตรูพืช เกษตรกรที่ขาดความเข้าใจอาจด่วนสรุปว่าใช้ชีวภัณฑ์แล้วไม่ได้ผล

การออกฤทธิ์ของชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชมี 2 รูปแบบ คือ “ฉีดพ่นโดนตัวตาย” และ “ฉีดพ่นที่พืช แมลงศัตรูพืชกินจึงตาย” ชีวภัณฑ์ที่ฉีดพ่นโดนตัวตาย ได้แก่ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม และไส้เดือนฝอยฝอยสไตเนอร์นีมา

ส่วนชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์เมื่อฉีดพ่นที่พืช แล้วแมลงศัตรูพืชกินตาย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือบีที หรือรู้จักและเรียกกันว่า “ยาเชื้อ” ทำลายแมลงระยะหนอน เมื่อหนอนกินเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ทำให้หนอนเป็นอัมพาต หยุดกินอาหาร โลหิตเป็นพิษ ชักกระตุกและตายภายใน 5-7 วัน

อีกชนิดคือ ไวรัสเอ็นพีวี เมื่อหนอนกินไวรัสเอ็นพีวีที่ปะปนอยู่บนใบพืช ไวรัสเข้าสู่กระเพาะอาหาร ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง อนุภาคไวรัสจะหลุดออกมาและเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหารของหนอน ทำให้หนอนกินอาหารลดลง เคลื่อนไหวช้าลง ผนังลำตัวสีเขียวของหนอนจะเริ่มซีดจาง หลังจากนั้นอนุภาคไวรัสขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแพร่กระจาย เข้าไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ ทั่วลำตัวของหนอน ผนังลำตัวของหนอนจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีครีม หนอนหยุดกินอาหาร พยายามไต่ขึ้นบริเวณส่วนยอดของต้นพืช และตายโดยห้อยหัวและส่วนท้องลงเป็นรูปตัว “วี” (V) หัวกลับ ผนังลำตัวของหนอนที่ตายแล้วจะแตกง่ายและจะเปลี่ยนเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว ของเหลวภายในซากหนอนจะเต็มไปด้วยผลึกของไวรัส

การเลือกใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ชนิดพืชที่ปลูก โรคพืช แมลงศัตรูพืช ความรุนแรงของการระบาด ความคุ้มทุน การเลือกใช้ชีวภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจควบคุมหรือจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  เกษตรกรต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การเขตกรรม การควบคุมโดยชีววิธี การใช้สารสังเคราะห์

ตัวอย่างการจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมลอน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน บวบ) มักพบโรคราน้ำค้างที่มีเชื้อสาเหตุคือ Pseudoperonospora cubensis ที่แพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือการเกษตรและการเคลื่อนย้ายพืชปลูก เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบส่วนของพืชที่เป็นโรคต้องเก็บทิ้งทำลายนอกแปลง และใช้ชีวภัณฑ์จำพวกแบคทีเรียหรือเชื้อราปฏิปักษ์ เช่น แบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส เชื้อราไตรโคเดอร์มา ส่วนแมลงศัตรูพืชที่มักพบในพืชตระกูลนี้ คือ แมลงวันหนอนชอนใบ (leaf miner) ซึ่งเกษตรกรใช้สารสกัดสะเดาป้องกันและกำจัดได้

ผลิตชีวภัณฑ์คุณภาพด้วยตนเอง

เกษตรกรผลิตชีวภัณฑ์บางชนิดไว้ใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนการซื้อได้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย ซึ่งเกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้รับการอบรมผลิตชีวภัณฑ์เหล่านี้มาแล้ว แม้ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก แต่เกษตรกรมักถอดใจที่จะผลิตเอง ด้วยไม่มั่นใจคุณภาพของชีวภัณฑ์ที่ผลิตได้ เมื่อนำไปใช้แล้วไม่เห็นผล รวมถึงไม่มีเวลาผลิต

การผลิตชีวภัณฑ์ไว้ใช้เองมีปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่หากขาดด้านใดด้านหนึ่งไปจะส่งผลต่อคุณภาพของชีวภัณฑ์ได้

ประการแรก หัวเชื้อชีวภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา หัวเชื้อราบิวเวอเรีย หรือหัวเชื้อราเมตาไรเซียม ต้องรู้แหล่งที่มาของหัวเชื้อ เช่น เป็นหัวเชื้อจากหน่วยงานภาครัฐใด จากสถาบันการศึกษาใด มีวัน/เดือน/ปีที่ผลิตและวันหมดอายุระบุชัดเจน นอกจากนี้เมื่อได้หัวเชื้อมาแล้ว การเก็บรักษาที่ถูกต้องส่งผลต่อประสิทธิภาพของหัวเชื้อด้วย โดยเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (ช่องเก็บผัก)

ประการที่สอง บุคลากรต้องได้รับการอบรมเบื้องต้นผลิตชีวภัณฑ์ชนิดนั้น ๆ มีความชำนาญ ประณีต มีใจรัก  เข้าใจลักษณะชีวภัณฑ์แต่ละชนิด และตรวจสอบคุณภาพของชีวภัณฑ์ได้เบื้องต้น เช่น มีลักษณะร่วน แห้ง ฟุ้งกระจายคล้ายผงแป้ง ไม่เกาะตัวเป็นก้อนแข็ง ไม่มีเชื้ออื่นปนเปื้อน การผลิตชีวภัณฑ์คุณภาพจึงต้องอาศัยระยะเวลาและความใส่ใจ

ประการที่สาม สถานที่ผลิต การผลิตชีวภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก แบ่งพื้นที่ชัดเจน สถานที่ผลิตต้องแยกจากพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเรือน ไม่ควรใช้พื้นที่ห้องนอนหรือห้องน้ำ แยกห้องผลิตชีวภัณฑ์แต่ละชนิดออกจากกัน ไม่ควรใช้ห้องเดียวกันผลิตชีวภัณฑ์หลายชนิด อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อได้ นอกจากนี้ห้องผลิตชีวภัณฑ์ต้องมีอากาศถ่ายเท แสงแดดส่องผ่านแต่ไม่โดนโดยตรง

ประการสุดท้ายคือ อุปกรณ์ จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ ข้าวเสาไห้ ถุงร้อนขนาด 8×12 นิ้ว สำลีม้วน ยางวง คอขวด กระดาษฟอยล์ หัวเชื้อชีวภัณฑ์ (หัวเชื้อราไตรโคเดอร์ บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม) ซึ้งอะลูมิเนียม 3 ชั้น หรือหม้อนึ่งความดัน ตู้เขี่ยเชื้อ แอลกอฮอล์ 70% ตะเกียงแอลกอฮอล์ ผ้าขาวบาง ตาชั่ง น้ำสะอาด เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิภายในห้อง ปากกาเคมี และชั้นวางสำหรับบ่มเชื้อ

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างง่ายให้เกษตรกร ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สายพันธุ์ TBRC4734 เชื้อราบิวเวอเรีย บัสเซียนา สายพันธุ์ BCC2660 และเชื้อราเมตาไรเซียม สายพันธุ์ BCC4849 โดยควบคุมคุณภาพการผลิตจากการสุ่มตรวจสอบนับปริมาณสปอร์เชื้อราแต่ละชนิดทุก 3 เดือน กำหนดให้ปริมาณสปอร์ 1 ถุง (200 กรัม) มีสปอร์ของเชื้อนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 109 สปอร์/กรัม มีเปอร์เซ็นต์การงอกไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรต้นแบบผลิตขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชน

ต้นแบบเกษตรกรแกนนำผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับชุมชน

หลังจากที่ คุณสุนทร ทองคำ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลวังท่าช้าง ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้อบรมการผลิตบิวเวอเรียจาก สวทช. เขาได้จัดสรรพื้นที่ในบ้านทำห้องผลิตชีวภัณฑ์ขนาด 2×5 เมตร เพื่อผลิตบิวเวอเรีย เมตาไรเซียม และไตรโคเดอร์มาไว้ใช้เองควบคู่กับส่งเสริมให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้างและเกษตรกรที่สนใจได้ผลิตชีวภัณฑ์ไว้ใช้เอง อย่างไรก็ดีห้องผลิตบิวเวอเรียนี้กลับกลายเป็นอีกแหล่งรายได้ให้คุณสุนทรผลิตชีวภัณฑ์จำหน่ายให้สมาชิกและเครือข่าย

“เกษตรกรที่ทำอินทรีย์รู้จักไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียม บิวเวอเรีย แต่ใช้ไม่จริงจัง ใช้ไม่ถูกวิธีบ้าง ทำให้ไม่เห็นผล ส่วนวิธีทำ เขารู้ว่าต้องทำอย่างไร อบรมกันมาหมด แต่ไม่อยากทำ อยากซื้อใช้มากกว่า บางคนก็มีหน้างานหลายอย่าง ไม่สะดวกทำ บางคนก็ว่ายุ่งยาก”

ในช่วงแรกของการผลิตบิวเวอเรีย คุณสุนทรประสบปัญหาการปนเปื้อน เนื่องจากสภาพห้องยังไม่ได้มาตรฐาน เขาจึงตัดสินใจปรับปรุงห้องใหม่ตามคำแนะนำจาก สวทช. โดยปูพื้นกระเบื้อง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จัดวางชั้นวางและตู้เขี่ยเชื้อให้เหมาะสม

“ยิ่งเราทำบ่อยก็ยิ่งเชี่ยวชาญ จะตรวจสอบคุณภาพดูด้วยสายตาก่อน มีความฟุ้งของสปอร์ ไม่มีเส้นใย และทุกรอบผลิตจะส่งตรวจกับ สวทช. ก็มีปริมาณสปอร์ 109 สปอร์/กรัม เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับถ่ายทอดจาก สวทช.”

คุณวิฑูรย์ ปรางโรจน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผักสุมหัว อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และคุณอุไรพร เบ็ญพาด ภรรยา มีโอกาสเข้าร่วมโครงการกับ สท. ในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสู่เกษตรกร ทั้งสองได้เรียนรู้ทฤษฎี ฝึกปฏิบัติผลิตชีวภัณฑ์ (บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม ไส้เดือนฝอย) และทดสอบวิธีกำจัดศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์เปรียบเทียบกับวิธีของตนในแปลงผักกวางตุ้ง ผลลัพธ์ที่ได้ คือ แมลงศัตรูพืชลดน้อยลง ผลผลิตสมบูรณ์และได้น้ำหนัก ทำให้เชื่อมั่นการใช้ชีวภัณฑ์จากเชื้อสดที่ผลิตไว้ใช้งานเอง จึงลงทุนสร้างอาคารประชุมและห้องผลิตขยายชีวภัณฑ์ 3 ห้อง ได้แก่ ห้องผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย ห้องผลิตเชื้อราเมตาไรเซียมและห้องผลิตไส้เดือนฝอย โดยคุณอุไรพรรับหน้าที่ผลิตชีวภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแผนการผลิตผักของคุณวิฑูรย์ เธอสามารถผลิตเชื้อราบิวเวอเรียและเชื้อราเมตาไรเซียมคุณภาพ มีสปอร์ไม่ต่ำกว่า 109 สปอร์/กรัม และเปอร์เซ็นต์การงอกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

การผลิตไม่ยาก ทำได้ทุกคนแต่สำคัญที่การดูแลเอาใจใส่ เช่น อุณหภูมิ ความสะอาดในห้อง ที่ทำมามีปนเปื้อนน้อยมาก ผลิตเองมีต้นทุนต่ำ ถุงละ 25 บาท เราเน้นผลิตไว้ใช้เอง แต่ถ้ามีสมาชิกสนใจก็มาเรียนรู้หรือซื้อจากเราได้”

จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสู่เกษตรกรของ สท. ทำให้เกิด “จุดเรียนรู้ชุมชนการผลิตใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ” ที่เป็นแหล่งผลิตและใช้ชีวภัณฑ์คุณภาพตามหลักวิชาการของ สวทช. ปัจจุบันมี 3 แห่ง คือ

  • วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โทรศัพท์ 08 9246 5268
  • ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 08 1590 6611
  • วิสาหกิจชุมชนผักสุมหัว ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ 08 7091 0171

การตระหนักถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งของผู้บริโภคหรือแม้แต่เกษตรกรเอง ทำให้ชีวภัณฑ์เป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น การเลือกใช้หรือผลิตเองอย่างมีความรู้และความเข้าใจจะช่วยให้การใช้ชีวภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากจุดเรียนรู้ฯ ทั้งสามแห่งนี้แล้ว ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนา DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร โดยแอดไลน์ @dapbot เป็นอีกช่องทางออนไลน์ที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • รู้จักรู้ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
  • หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย
  • บทความ “ชีวภัณฑ์” ผลิตใช้เอง ผลิตให้ชุมชน เสริมรายได้
  • บทความ รู้จัก “บิวเวอเรีย” อย่างเข้าใจ จัดการศัตรูพืชด้วยความรู้

About Author