เธอเห็นท้องฟ้าในภาพนั่นไหม

เรื่องโดย ผศ. ดร.ภาณุ ตรัยเวช


ลุก โฮวาร์ด (Luke Howard) ชาวอังกฤษ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาอุตุนิยมวิทยา เขาศึกษาท้องฟ้า ก้อนเมฆ และเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อเมฆ ในหนังสือ On the Modification of Clouds ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1803 ในหนังสือเล่มนี้โฮวาร์ดต้องการแสดงภาพเมฆชนิดต่าง ๆ  สมัยนั้นยังไม่มีรูปถ่าย บิดาของวิชาอุตุนิยมวิทยาเลยลงมือวาดรูปเมฆเอง ภาพที่เห็นด้านล่างนี้โฮวาร์ดเป็นคนวาดท้องฟ้า ส่วนเนินเขา ท้องถนน ต้นไม้ และวัวที่ยืนอยู่ด้านหน้า วาดโดยเพื่อนจิตรกร


ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Cumulostratus_Etching-_Luke_Howard.png

ในฐานะนักวิจัยและคนสอนอุตุนิยมวิทยา ผู้เขียนชอบรูปนี้มากและนึกไม่ออกจริง ๆ ถ้าตัวเองมีชีวิตอยู่ในสมัยที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป เราจะทำงานวิจัยได้อย่างไร เพราะนักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นต้องมีฝีไม้ลายมือทางด้านศิลปะด้วย

On the Modification of Clouds กลายเป็นหนังสือขายดี ทั้งในหมู่นักวิจัย คนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรกร ข้อเขียนของโฮวาร์ดช่วยให้พวกเขาสังเกตหลายสิ่งบนท้องฟ้าที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน ทักษะนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับอาชีพที่ต้องการบันทึกทิวทัศน์ตรงหน้าให้ละเอียดและสมจริงยิ่งขึ้น


ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Study_of_Cirrus_Clouds_-_Constable.jpg

หนึ่งในแฟนหนังสือของโฮวาร์ดคือ จอห์น คอนสเตเบิล (John Constable) ศิลปินภาพทิวทัศน์ชาวอังกฤษ คอนสเตเบิลเป็นจิตรกรคนแรก ๆ ที่แบกแท่นตั้ง พู่กัน ขวดสี และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปทำงานกลางแจ้ง บันทึกภาพท้องฟ้าตามที่เห็นจริง ความรู้ทางอุตุนิยมวิทยา ชื่อเมฆชนิดต่าง ๆ วิธีการเกิด และความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ ช่วยให้คอนสเตเบิลเก็บภาพก้อนเมฆได้อย่างละเอียด สมจริง ชนิดไม่มีจิตรกรคนใดเคยทำได้ในอดีต

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์ต้องวาดรูปเป็น และจิตรกรต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ก่อนศตวรรษที่ 15 แทบไม่มีท้องฟ้าจริง ๆ ในงานศิลปะยุโรปเลย ท้องฟ้าคือพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ สถานที่สถิตของพระบิดา พระบุตร พระจิต และอัครสาวก มนุษย์สวดมนต์อ้อนวอนเงยหน้าขึ้นท้องฟ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตอบรับด้วยการเผยโฉมให้ผู้ศรัทธาได้เห็น ส่วนก้อนเมฆในงานศิลปะยุคนี้คือแท่นเหยียบให้เทวดาก้าวย่าง ขนาดเป็นภาพที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนาก็ยังยากที่เราจะเห็นท้องฟ้าสมจริงในงานศิลปะยุคนี้

ภาพด้านล่างเอามาจากหนังสือชีวประวัติอะเล็กซานเดอร์มหาราช ตีพิมพ์ต้นศตวรรษที่ 15 นักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์มาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโลกและดวงดาว ขนาดในภาพที่เต็มไปด้วยกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เรายังเห็นท้องฟ้าที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย ดวงดาวแต่งแต้มเหมือนลวดลายผ้า ดวงอาทิตย์ทอรัศมีเป็นเส้น ๆ นี่คือดวงอาทิตย์ตามขนบภาพวาดยุคกลาง ดวงอาทิตย์เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า ต้องทอรัศมีกระจายออกมา เพื่อถ่ายทอดความอบอุ่นและเมตตาสู่พื้นพิภพ


ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Studying_astronomy_and_geometry.jpg

ท้องฟ้าบนภาพวาดเริ่มกลายมาเป็นท้องฟ้าจริง ๆ หลังศตวรรษที่ 15 ในยุคเรอแนซ็องส์ ชาวยุโรปค้นพบความรู้กรีกโรมันโบราณที่สูญหายไป พวกเขาเรียนรู้หลักทัศนมิติ (perspective) การวาดภาพสามมิติบนพื้นผิวสองมิติ เทวดาในภาพวาดเรอแนซ็องส์ไม่บินบนท้องฟ้าแล้ว ท้องฟ้าทำหน้าที่อื่น เป็นฉากหลังที่เปิดออกไป สร้างจุดรวมสายตา (vanishing point) ให้ผู้ชมมองเห็นทิวทัศน์เบื้องหลังเล็กลง ๆ จนพื้นผิวแบน ๆ มีมิติที่สามเพิ่มเข้ามาได้


ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Workshop_of_Andrea_del_Verrocchio._Tobias_and_the_Angel._33x26cm._1470-75._NG_London.jpg

อันเดรอา เดล แวร์รอกกีโอ (Andrea del Verrocchio) ชาวอิตาลี วาดภาพการผจญภัยของเด็กหนุ่มโตบีอัส โตบีอัสและสุนัขคู่ใจออกเดินทางทวงหนี้ให้แก่พ่อตาบอด เทวดาสงสารเลยบินลงมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง จูงมือโตบีอัสไปทวงหนี้ หลังทวงหนี้ได้จบสิ้น เด็กหนุ่มก็เอาปลาที่จับได้ไปให้พ่อกิน และดวงตาของชายชราก็ฟื้นกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง อิตาลีในศตวรรษที่ 15 เป็นสังคมพาณิชยการ เต็มไปด้วยการค้าขาย การทำบัญชี หนี้สิน เรื่องราวของโตบีอัสจึงจับใจผู้คนเป็นพิเศษ ลูกค้ามาจ้างแวร์รอกกีโอให้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ลงบนภาพวาด ในภาพเห็นท้องฟ้าด้านหลังโตบีอัสเปิดออก แม่น้ำต่อยาวไปถึงภูเขาสุดลูกหูลูกตา อะไรที่อยู่ใกล้มีขนาดใหญ่กว่าสิ่งที่อยู่ไกล ศิลปินเรอแนซ็องส์รู้จักหลักการจุดรวมสายตา ช่วยให้พวกเขาวาดภาพสามมิติได้ และราวกับว่าโตบีอัสกำลังเดินอยู่บนเนินเขาจริงๆ

แวร์รอกกีโอมีลูกศิษย์ไม่เอาไหนคนหนึ่ง อายุปาเข้าไปสามสิบเอ็ดแล้ว ลูกศิษย์คนอื่นที่อายุขนาดนี้จะต้องรับงานนอก ออกไปสร้างสตูดิโอของตัวเอง แต่ลูกศิษย์คนนี้ขี้เกียจทำงาน วาดรูปอะไรก็วาดไม่เคยเสร็จ เพราะเบื่อไปก่อน แวร์รอกกีโอไม่ถนัดวาดรูปสัตว์ เลยสั่งให้ลูกศิษย์เป็นคนวาดสุนัขของโตบีอัสวิ่งตามเท้าเทวดาอยู่มุมซ้ายล่าง สุนัขตัวนี้กลายมาเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของลูกศิษย์ไม่เอาไหนที่ชื่อว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)

หลายปีหลังจากนั้น เลโอนาร์โดสั่งสมชื่อเสียงและมีลูกศิษย์เป็นของตัวเอง คือ ราฟาเอล ซานซีโอ (Raphael Sanzio) ลูกศิษย์ของเลโอนาร์โดตรงข้ามกับอาจารย์ เขาขยันขันแข็ง ก่อนหน้าจะมาฝึกฝีมือกับเลโอนาร์โด ก็เคยอยู่ในสตูดิโอของอาจารย์อีกคน พอรู้สึกว่าตัวเองวาดภาพสวยกว่าอาจารย์แล้วก็ออกเดินทางมาฟลอเรนซ์ เพื่อมาเรียนวิชากับเลโอนาร์โด ราฟาเอลชอบวาดรูปพระแม่มาเรีย อาจจะเป็นเพราะแม่ของเขาเสียชีวิตตอนที่เขาเริ่มต้นหัดวาดภาพพอดี ราฟาเอลวาดภาพพระแม่ออกมาหลายสิบภาพ หนึ่งในภาพที่สวยที่สุดคือ Madonna del Prato มาเรียอยู่กับทารกเยซู และจอห์น ญาติของพระองค์ เด็กทั้งสองกำลังเล่นคทาไม้กางเขน


ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Madonna_del_Prato_%28Raphael%29#/media/File:Raphael_-_Madonna_in_the_Meadow_-_Google_Art_Project.jpg

รูปนี้มีรายละเอียดให้พูดถึงเยอะ แต่ผู้เขียนขอจำกัดพูดถึงแต่เฉพาะท้องฟ้าในรูปก็แล้วกัน คล้าย ๆ กับรูปส่วนใหญ่ในยุคเรอแนซ็องส์ ท้องฟ้าเปิดออกไปเป็นทิวทัศน์สร้างภาพลวงตาสามมิติ แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่าในภาพของราฟาเอลคือก้อนเมฆ ผู้เขียนเห็นเมฆที่อาจจะเป็น “ซีร์รัส สปิสเซตัส” (cirrus spissatus) เมฆระดับสูง องค์ประกอบภายในเป็นเกล็ดน้ำแข็ง มาอยู่รวมกันเป็นก้อนมวลแน่นหนา เมฆชนิดนี้จะปรากฏออกมาหลังพายุฝน ผู้ชมที่มองภาพท้องฟ้ามีเมฆชนิดนี้อยู่จึงอดไม่ได้จะหวนระลึกถึงฟ้าหลังฝนตกหนัก และรู้สึกสบายใจอย่างไม่รู้ตัว สมกับเป็นภาพของพระแม่มาเรียและพระเยซู

ราฟาเอลวาดภาพ Madonna del Prato เกือบสามร้อยปีก่อนลุก โฮวาร์ดจะตีพิมพ์หนังสือ สมัยนั้น มนุษย์ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากพอจะเข้าใจเมฆ เข้าใจปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยา ราฟาเอลอาจวาดท้องฟ้าลักษณะนี้ด้วยความบังเอิญ หรือมาจากการสังเกตสังกาธรรมชาติจริง ๆ ก็ได้ แต่ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องวาดรูปเป็นและจิตรกรต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างสองอาชีพนี้แบ่งกันด้วยเส้นบาง ๆ เท่านั้น

About Author