ม.มหิดลปลูกฝังนักศึกษาพยาบาล ‘พร้อมรับ’ AI แต่ไม่ลืม ‘หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์’

“มนุษย์“ (Human) “มนุษยชาติ“ (Humanity) และ “มนุษยธรรม“ (Humanitarian) ล้วนมาจากรากศัพท์เดียวกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบันยังไม่อาจเข้าถึงได้ 100% ในขณะที่ใน “การพยาบาล” หากขาดเพียงคำใดคำหนึ่ง ก็ไม่อาจบรรลุ “ภารกิจที่แท้จริง” ในการดูแล “สุขภาพองค์รวม” ของมนุษย์ด้วยกันได้

อาจารย์ ดร.สืบสาน รักสกุลพิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในบทความวิชาการเชิงทบทวนวรรณกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์เชิงระบบ เพื่อวิเคราะห์การใช้ AI ในงานการพยาบาล สู่การส่งเสริมระดับนโยบาย โดยมองว่าจำเป็นต้องพัฒนาโดยเร่งด่วนเพื่อให้สนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้ป่วยในโลกยุคดิจิทัล

เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการสนองตอบที่แตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระดับความรุนแรงของสภาพอาการ โดยพบว่าแม้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือที่ต้องแข่งกับเวลา แต่การพัฒนา AI ให้มีศักยภาพพร้อมอ่านผล CT Scan หรือผลสแกนสมองจากการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้โดยตรงยังมีจำกัด ที่ผ่านมายังคงต้องรอการอ่านผลและวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ถึงปัจจุบันจะได้มีการพัฒนาให้ AI สามารถ “ใช้ภาษาโต้ตอบ” ได้กับมนุษย์ แต่ยังคงมีข้อจำกัดที่ขึ้นอยู่กับ “การป้อนข้อมูล” ซึ่งส่งผลต่อ “การประมวลผล” ของ AI ที่แม้รวดเร็ว แต่ขาดความถูกต้อง ลึกซึ้ง และตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

จากการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Multidisciplinary Healthcare” ได้นำมาสู่ “ทางออก” ที่จะต้องมีการวางแผนเตรียมพร้อม โดยพัฒนาทั้งทรัพยากรมนุษย์ ระบบอำนวยการ และนโยบาย เพื่อรองรับการพัฒนา AI ให้มีศักยภาพที่สอดคล้องโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะทำให้ “มนุษย์“ (Human) “มนุษยชาติ“ (Humanity) และ “มนุษยธรรม“ (Humanitarian) ได้แทรกซึมทั้งในการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ พร้อมปลูกฝังให้นักศึกษาพยาบาลทุกคนดูแลผู้ป่วยด้วย “หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศชาติ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author