ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้มันสำปะหลังอินทรีย์

ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ผลผลิตมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังขั้นต้น (เช่น แป้งมันสำปะหลัง มันเส้น) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมพลังงาน

ระบบการปลูกมันสำปะหลังในไทยยังใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อความต้องการอาหารปลอดภัยเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์จึงเป็นเรื่องท้าทายของเกษตรกรไทยไม่น้อย ทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และที่สำคัญคือ ตลาดรับซื้อ

หลุยส์ ธรรมเที่ยง

หลุยส์ ธรรมเที่ยง เกษตรกรบ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี และรังสรรค์ อยู่สุข เกษตรกรบ้านคำฮี ตำบาลนาคาย อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับบริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพ โดยดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ

รังสรรค์ อยู่สุข

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินด้วยเทคโนโลยี Smart NPK เป็นหนึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีสำคัญที่โครงการฯ มุ่งถ่ายทอดให้เกษตรกรได้รู้จักดินของตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทั้งผลผลิตที่มีคุณภาพ ต้นทุนการผลิต (ปุ๋ย) และรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ

“ฝนมาปลูกมัน แล้วทำนา ทำนาเสร็จ เก็บมัน เก็บมันเสร็จหาปลา” หลุยส์บอกเล่าถึงอาชีพของชาวบ้านผาชัน จากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มและพื้นที่ลาดเอียงลงแม่น้ำโขง สภาพดินทรายร่วนไม่กักเก็บน้ำ “นาข้าว มันสำปะหลัง และปลา” จึงเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่นี่

หลุยส์เริ่มปลูกมันสำปะหลังในช่วงปี พ.ศ. 2545 หลังไปใช้ชีวิตเป็นพนักงานกินเงินเดือนหลักหมื่นที่กรุงเทพฯ อยู่เกือบสิบปี

“หัวหน้าบอกว่าทำงานได้เงินเดือนหมื่นหนึ่ง ทำนาปีก็ได้หมื่นหนึ่ง เอาเงินไปจ้างเขาทำก็ได้ แต่เราคิดว่าไม่มีความมั่นคง เราอาจถูกไล่ออกได้ แล้วทำงานต่างถิ่นมันไม่ใช่ที่ปักหลักปักฐานของเรา กลับมาอยู่บ้านเป็นพื้นที่ของเรา มีความมั่นคงกว่า ก็ต้องมาจัดการพื้นที่เราให้ได้เงิน”    

หลุยส์เริ่มต้นปลูกมันสำปะหลังบนพื้นที่ 2 ไร่ ปลูกตามที่เพื่อนบ้านบอก แม้รายได้ที่กลับมาปีแรกจะอยู่ที่หลักพันบาท แต่เขาก็ยังคงปลูกมันสำปะหลัง

“ปลูกโดยไม่มีความรู้อะไร ราคามันตอนนั้นไม่ถึงบาท ปีแรกปลูกได้เงิน 3,000 บาท คนอื่นก็ได้ประมาณนี้ ถือว่าได้น้อย แต่เราไม่มีทางเลือก มันสำปะหลังใช้น้ำน้อย จะทำเกษตรอย่างอื่นต้องอาศัยน้ำ ก็ลองผิดลองถูกกันเอง จนเริ่มมีหน่วยงานมาให้ความรู้และราคามันขยับขึ้น ปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ยของบ้านผาชันได้อยู่ที่ 2 ตันต่อไร่”

เป็นที่รู้กันในตำบลสำโรงว่าการทำเกษตรของชาวบ้านผาชันไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ด้วยความคิดที่ว่า ฉีดยาแล้วหญ้าตาย แล้วคนเราจะเหลืออะไร ชาวบ้านจึงจัดการหญ้าด้วยวิธีดายหรือใช้เครื่องตัดหญ้า การจัดการที่ต้องใช้แรงงานคนนี้ส่งผลต่อขนาดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีมากสุดไม่เกิน 10 ไร่ต่อคน เพื่อสะดวกต่อการดูแลจัดการแปลง หลุยส์ก็เช่นกัน ปัจจุบันเขามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 5 ไร่

ด้วยบริบทของพื้นที่ที่เป็นภูเขาและวิถีการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี บวกกับการเป็นคนชอบเรียนรู้ การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับหลุยส์ เมื่อเติมเต็มด้วยการปลูกตามหลักวิชาการทั้งระยะการปลูก การดูแลจัดการแปลงและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 3 ตันต่อไร่

“สท. สวทช. มาทำแปลงเปรียบเทียบระหว่างแปลงที่ตรวจดินก่อนใส่ปุ๋ยกับแปลงของผมที่ปลูกแบบตามใจ ใส่ปุ๋ยบ้างไม่ใส่บ้าง ผลออกมาจำนวนหัวต่อต้นและน้ำหนักต่างกันเลย แปลงผมได้น้อยกว่า วิธีการให้ความรู้แบบนี้ ผมว่าดี ให้เกษตรกรทำเอง เห็นเอง ผมได้เรียนรู้กับแปลงของอาจารย์ที่ตรวจดิน ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ผมอยากรู้ว่าดินที่แปลงของผมขาดธาตุอาหารอะไร จะได้เติมปุ๋ยได้เหมาะสม”  

การเรียนรู้จากแปลงเปรียบเทียบทำให้หลุยส์ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจวิเคราะห์ดิน และทำให้เขามองไปถึงการเพิ่มปริมาณผลผลิตในแปลง

“อยากปลูกให้ได้ผลผลิต 4-5 ตันต่อไร่ แต่พื้นที่เราอยู่ในเขตอุทยานฯ จะเพิ่มพื้นที่ปลูกก็ไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มปริมาณในพื้นที่เดิม เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ดินก่อนและเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะกับดิน ก็น่าจะเพิ่มผลผลิตได้” 

ด้วยความชอบทดลองและแสวงหาความรู้ แปลงของหลุยส์จึงเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการตรวจวิเคราะห์ดิน ขณะเดียวกันเขาก็พร้อมเป็นแปลงเปรียบเทียบการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์

“ทำมันอินทรีย์ ราคาดี ปลอดภัยต่อชีวิต แต่ต้องใช้แรงจัดการหญ้า การจัดหญ้าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องจัดการทุกระยะ คนที่ทำ 10 ไร่ ต้องใช้คนเยอะและเหนื่อยมาก ถ้าใช้เครื่องจักรมาช่วยก็จะประหยัดเวลา ซึ่งขนาดพื้นที่จำกัด ระยะห่างระหว่างร่องปลูกแคบ รถไถก็เข้าไม่ได้ ก็จะทดลองขยายเพิ่มร่องแล้วใช้รถไถ ทำเป็นแปลงเปรียบเทียบให้ชาวบ้านเห็นว่าได้ผลหรือไม่ ให้เห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่นักวิชาการมาโม้”

การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากขึ้น ด้วยราคารับซื้อเป็นแรงจูงใจ ปัจจุบันมีชาวบ้านผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ 40 ราย ปีการผลิต พ.ศ. 2566/2567 บริษัทฯ ให้ราคารับซื้อที่ 3.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหลุยส์ได้ผลผลิตทั้งหมด 15 ตันจากพื้นที่ 5 ไร่ เมื่อหักต้นทุน (ค่าแรงและสารปรับปรุงดิน) แล้ว เขามีรายได้ 47,000 บาท

 “ตั้งแต่ทำมันมา ปีนี้พอใจสุด ๆ เป็นราคารับซื้อสูงสุดที่ได้ ราคาตลาดอยู่ที่ 3.20 บาท แล้วก็ลงมาที่ 2.90 บาท แต่เรายังได้ที่ 3.80 บาท”

ขณะที่สภาพพื้นที่ภูเขาเป็นข้อจำกัดการทำเกษตรของหลุยส์ แต่สำหรับรังสรรค์ ราคาข้าวที่ตกต่ำเป็นจุดพลิกผันให้เขาแบ่งสรรผืนนาจาก 50 ไร่ มาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสความนิยมด้วยราคาที่ดีกว่า

“ช่วงปี 2558 ใช้พื้นที่นา 15 ไร่ปลูกมันสำปะหลัง ได้ผลผลิตดีกว่าข้าว ราคาก็ดีกว่า ทำนาข้าวได้ 7-8 กระสอบ ได้เงิน 2,000 กว่าบาท แต่ทำมันได้เงิน 6,000-7,000 บาท ราคามันประมาณ 1.50-1.80 บาทต่อกิโลกรัม”

รังสรรค์ไม่มีความรู้การปลูกมันสำปะหลังมาก่อน อาศัยเรียนรู้จากเกษตรกรที่ปลูกกันอยู่แล้ว ผลผลิตที่ได้ขายให้ลานรับซื้อในพื้นที่ แม้รายได้จากมันสำปะหลังจะมากกว่าข้าว แต่ค่าปุ๋ยก็เป็นต้นทุนที่สูงและมากกว่านั้นคือต้นทุนสุขภาพ ในช่วงปี พ.ศ. 2560 เขามีโอกาสได้รู้จักบริษัท UBE และได้รับรู้ข้อมูลการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์

“ทำนาข้าวก็เป็นนาเคมี ทำมันสำปะหลังก็เคมี เวลาเข้าแปลงหายใจไม่สะดวก ปวดเมื่อยร่างกาย พอตรวจเลือดพบสารเคมีในเลือดสูงมาก ตอนนั้นถ้าไม่เจอบริษัทฯ ก็คิดจะลดการปลูกเอง เปลี่ยนไปจ้างคนทำ แต่พอเปลี่ยนมาทำมันอินทรีย์ หายใจสะดวกขึ้น สารเคมีในเลือดลดลงเยอะ”

นอกจากความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นปัจจัยหลักให้รังสรรค์ปรับเปลี่ยนมาผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์แล้ว ราคารับซื้อของบริษัทฯ เป็นอีกแรงจูงใจเช่นกัน

“เกษตรกรรู้ราคารับซื้อก่อนก็มีกำลังใจที่จะทำ ปีแรกบริษัทฯ ให้ราคา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคามันเคมีอยู่ที่ 1.80 บาทต่อกิโลกรัม ทำอยู่ 7 ไร่ ได้ผลผลิต 2.5 ตันต่อไร่ ถือว่าได้ผลผลิตน้อย แต่เราได้ราคาสูงกว่า ทำมันเคมีก็ได้ 2.5 ตัน แต่ปลูกไม่มีความรู้ ทำตาม ๆ เขา ไม่มีความรู้เรื่องพันธุ์ ดินเราเหมาะกับพันธุ์อะไร ก็ไม่รู้ รู้แต่เป็นมันก็ปลูกไป”

ปัจจุบันรังสรรค์ใช้พื้นที่นาตัวเองและพื้นที่เช่ารวม 45 ไร่ ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยได้รับความรู้จากบริษัทฯ หน่วยงานเกษตรในพื้นที่ รวมถึง สวทช.

“ลงทุนเองตั้งแต่เตรียมแปลงทำคันดินสูงขึ้นป้องกันสารเคมีทางดิน ปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นแนวกันชน ดูแลจัดการวัชพืชบ่อยกว่า ใช้รถไถนาเดินตามจัดการวัชพืชช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องตัดหญ้าหรือจอบ ทำมันอินทรีย์ยุ่งยากกว่าเคมี แต่เพื่อสุขภาพของเราเอง ถ้าทำเคมี อีก 2-3 ปี ก็ทำไม่ไหวแล้ว แต่ทำอินทรีย์ ยังทำต่อไปได้เรื่อย ๆ”

เมื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามข้อกำหนดระบบเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้การปลูกและดูแลตามหลักวิชาการ เช่นเดียวกับวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย ที่ทำให้รังสรรค์ได้ผลผลิตสูงถึง 8.7 ตันต่อไร่

“ช่วงแรกยังไม่ได้ตรวจดิน ก็ใส่สารปรับปรุงบำรุงดินที่บริษัทฯ สนับสนุน อาศัยการสังเกต ดินดีก็ใส่น้อย ดินไม่ดีก็ใส่เยอะหน่อย แล้ว สวทช.มาชวนทำแปลงเปรียบเทียบแปลงที่ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ ก็ลองทำดูพื้นที่ 1 ไร่ เห็นชัดว่าดินในแปลงของ สวทช.นุ่ม ดึงหัวมันง่าย จำนวนหัวและน้ำหนักก็มากกว่า”

ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ตามค่าวิเคราะห์ดินสูงถึง 2,578 กิโลกรัมต่อไร่ สะท้อนถึงดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แม้จะเป็นต้นทุนที่สูง แต่ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ครั้งนี้ได้เติมความสมบูรณ์ให้ดิน เป็นคลังธาตุอาหารในฤดูกาลผลิตปีต่อ ๆ ไป โดยที่รังสรรค์จะใช้ปุ๋ยน้อยลง นั่นหมายถึงต้นทุนค่าปุ๋ย (สารปรับปรุงบำรุงดิน) ที่ต้องซื้อก็ลดลงด้วย

“ตั้งแต่ทำมันอินทรีย์มา ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะได้ความรู้และมีประสบการณ์ปลูกมากขึ้น ที่สำคัญต้องตั้งใจและใส่ใจดูแล แม้จะยุ่งยากกว่าเคมี แต่ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า”

ไม่เพียงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์จะส่งผลดีต่อสุขภาพและรายได้ให้ทั้งหลุยส์และรังสรรค์ แต่พวกเขายังเป็นต้นทางวัตถุดิบอาหารปลอดภัยที่ส่งถึงผู้บริโภค

“ภูมิใจที่เราได้ทำของปลอดภัยให้คนอื่นกินและยังเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก ได้ช่วยคนต่างประเทศให้มีสุขภาพที่แข็งแรง” ความรู้สึกของหลุยส์ ซึ่งไม่ต่างจากรังสรรค์ “ดีใจและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ปลอดภัยที่เริ่มต้นจากเกษตรกร”

โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต จัดทำแปลงต้นแบบการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินกับเกษตรกร 36 ราย พบว่าร้อยละ 80 ของแปลงต้นแบบที่มีค่าวิเคราะห์ดินดีขึ้น จำนวนหัวต่อเหง้าเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30

ที่มา : หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร,  2567.

About Author