Headlines

กำจัดตัวการโลกร้อนที่ต้นตอการผลิต

คงเป็นไปไม่ได้หากจะดักจับ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์“ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น “ตัวการสำคัญทำโลกร้อน” ที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ มากักเก็บจนหมดโลกในคราวเดียว และคงไม่ต่างอะไรกับการจัดการที่ “ปลายเหตุ”

ด้วยพลังแห่ง “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำไปสู่การค้นพบใหม่ ด้วยวิธีการ “กำจัดคาร์บอน“ จาก “แหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม”

รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การให้พลังงานแก่สสารจนเกิดการไอออไนเซชัน และแก๊สเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพลาสมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกับ “ฟ้าผ่า” สามารถทำลายคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้สรรพสิ่งบนโลกได้อยู่ในชั้นบรรยากาศที่สะอาดปราศจากมลพิษ

ด้วยหลักการดังกล่าวได้นำไปสู่งานวิจัยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการอาร์คพลาสมา สามารถนำไปสู่การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม (CO2 Elimination by Arc Plasma (CEAP) ผลงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย ซึ่งสามารถกำจัดได้ตั้งแต่ “ต้นตอการผลิต”

โดยพบว่าการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยพลาสมาที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบสุญญากาศที่ทำกันโดยทั่วไปไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ด้วยวิธี CEAP จากผลการทดลองในเบื้องต้นพบว่าสามารถทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สลายได้อย่างรวดเร็ว จาก 2,000 ส่วนในล้านส่วน (PPM – Parts Per Million) เหลือเพียง 380 PPM ภายในเวลาเพียง 30 วินาที

โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Environmental Chemistry Letter” และอยู่ระหว่างการต่อยอดโดยมุ่งเป้าหมายไปที่การทำให้ทุกโรงงานได้เป็น “โรงงานสีเขียว“

ซึ่งหากสามารถผลักดันให้ได้ติดตั้งทุกโรงงาน จะทำให้ได้ “ลมหายใจสีเขียว” กลับคืนมาตั้งแต่ต้นทาง และก้าวต่อไปอาจพัฒนาสู่ “ต้นแบบขนาดเล็ก” เพื่อขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์นวัตกรรมดังกล่าวออกไปในวงกว้าง

และยังถือเป็นโอกาสในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนจากการ “สร้างคน” ผ่านหลักสูตรวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการสานต่ออนาคต “อุตสาหกรรมสีเขียว” เพื่อ “ต่อลมหายใจ” โลกในวันข้างหน้า

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author