เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแม้แต่ทางด้านศิลปะแห่งโลกตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการแสดงในหลากหลายสาขาอย่างเช่น “บัลเล่ต์” (Ballet) ที่ได้รับการบรรจุเป็นหลักสูตรพื้นฐาน เพื่อการเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มีโอกาสร่วมวิจัยกับนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโตรอนโตเมโทรโพลิแทน (Toronto Metropolitan University) สหพันธรัฐแคนาดา ซึ่งมีชื่อเดิมว่า มหาวิทยาลัยรายเยอร์ซัน (Ryerson University) ที่มีชื่อเสียงด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสื่อศิลปะ (Media Arts)
ร่วมด้วยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ก (York University) สหพันธรัฐแคนาดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกว่างตง (Guangdong University of Technology) และ มหาวิทยาลัยการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Communication University of China) ที่ร่วมดูแลด้านการใช้ศิลปะเสมือนจริง (Virtual Arts) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธรัฐแคนาดา เพื่อการสร้างสรรค์ “นวัตกรรม AI ฝึกบัลเล่ต์เสมือนจริง”
ด้วยเทคโนโลยี “CAVE” ที่สร้างโลกเสมือนจริงเพื่อช่วยให้การฝึกบัลเล่ต์มีความแม่นยำมากขึ้น โดยสามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ในการฝึกท่ามาตรฐานบัลเล่ต์ของผู้เรียนให้ตรงตามผู้ฝึก ด้วย “Generative Sensor Detection” ที่พร้อมแสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์ หากทำท่าไม่ตรงตามผู้ฝึกจะขึ้นเป็น “สีเหลือง” เพื่อแจ้งเตือน และ “สีแดง” เมื่อแสดงท่าผิดแบบ เพื่อให้ผู้ฝึกสามารถแก้ไขได้ในทันที
ซึ่งจากการทดลองใช้นวัตกรรม AI ฝึกบัลเลต์เสมือนจริง ได้ผลความแม่นยำในภาพรวม (Overall) ถึงร้อยละ 97 ทั้งในการฝึกผู้เรียนด้วยภาพ 3 มิติจากเทคโนโลยี “CAVE” ทั้งที่สหพันธรัฐแคนาดา และที่ประเทศไทยในเวลาต่อมา
ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง กล่าวต่อไปว่า Generative AI นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญต่อโลกยุคใหม่ จากการประมวลผลจากแหล่งข้อมูลที่โยงใยถึงกันแบบ IoT (Internet of Things) ที่ประสานข้อมูลจากทุกสื่อบนโลกออนไลน์มาไว้เข้าด้วยกัน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดการด้วย Realtime simulation และ Generative AI เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และคาดการณ์อนาคตด้วยเทคโนโลยี Digital Twin Technology
ไม่เพียงประโยชน์เพื่อการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์สื่อศิลปะ ยังสามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต อาทิ ใช้ทำนายสภาพเมืองในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า จากข้อมูลการวางโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวเมืองในด้านต่างๆ เพื่อการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ดียังคงพบการใช้ประโยชน์จาก AI ในโลกยุคปัจจุบันเพียงร้อยละ 40 – 50 ซึ่งนับว่ายังคงทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร โดยการวิจัยเพื่อผลักดันให้ AI ได้เพิ่มบทบาทในการเป็น “ผู้ช่วย” ในการยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ กำลังเป็นเรื่องสำคัญของโลก
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210