8 เรื่องราวอัปเดตวงการแพทย์ในอวกาศ ตอนที่ 4 อยู่ในอวกาศก็สมองบวมได้

เรื่องโดย ปาลิตา สุฤทธิ์


ไม่นานมานี้มีการตรวจพบการยืดขยายขนาดของ “โพรงสมอง” (ventricle) ในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 25 และเมื่อพิจารณาจากอัตราที่เพิ่มขึ้นนี้พบว่าค่อนข้างเป็นอันตรายต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งคล้ายกับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำคั่งในสมอง (hydrocephalus) ที่ตรวจพบอาการได้ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือมีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาด้านการมองเห็น ความคิด และความจำ หรือการสูญเสียการทรงตัว การเกิดสภาวะนี้ในอวกาศถือว่าค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการขยายขนาดของโพรงสมองที่พบนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน หากปล่อยให้นักบินอวกาศเผชิญกับภาวะนี้เป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นสาเหตุทำให้เนื้อสมองขาดเลือดและส่งผลกระทบให้เกิดอาการทางสมองอื่น ๆ ตามมา

ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและสมองจากผลกระทบของแรงโน้มถ่วง แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่มีความชัดเจนถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงของสมองรวมไปถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นตามมา แต่หลังจากที่มีการประกาศโครงการกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง รวมไปถึงแผนการส่งนักบินอวกาศประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้เรื่องความถี่ของการไปเยือนอวกาศและระยะเวลาที่ต้องอาศัยอยู่บนแรงโน้มถ่วงต่ำนานขึ้นกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความกังวลแก่เหล่านักบินอวกาศและองค์กรอวกาศใหญ่อย่างนาซาที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง

ทีมวิจัยของ ดร.เรเชล เซดเลอร์ (Rachael Seidler) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟลอริดา ซึ่งดูแลภารกิจเกี่ยวกับด้านสุขภาพของนักบินอวกาศโดยเฉพาะ ได้เผยแพร่งานวิจัยบนวารสารเนเจอร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองของมนุษย์เมื่ออยู่บนสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำซึ่งแตกต่างจากที่เคยมีการศึกษากันมา ทีม ดร.เซดเลอร์ได้ตรวจพบการขยายขนาดของโพรงสมองจากปกติถึงร้อยละ 25 โดยปกติโพรงสมองมีส่วนสำคัญต่อการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบในร่างกายทั้งหมด

นอกจากนี้โพรงสมองยังมีหน้าที่สำคัญในการพยุงไม่ให้เกิดการไหลของสมองและไขสันหลังเพื่อป้องกันอันตรายจากเนื้อสมองถูกกดทับซึ่งทำให้สมองส่วนนั้นได้รับความเสียหายจนไม่สามารถสั่งการได้ หรือการกดเบียดของระบบประสาทรอบกระดูกสันหลังซึ่งส่งผลให้อวัยวะของร่างกายได้รับความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ โดยผลกระทบอาจพบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแร งขึ้นอยู่กับขนาดของโพรงสมองที่ขยายตัวและระยะเวลาที่ต้องเผชิญ แม้ในเบื้องต้นอาจพบเห็นนักบินอวกาศมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอยู่บ้างเมื่อต้องเดินทางขึ้นสู่อวกาศ แต่ถ้าหากว่าการขยายขนาดของโพรงสมองเกิดขึ้นในอัตราส่วนที่สูงเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิตได้

ทีมวิจัยของ ดร.เซดเลอร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยด้านเวลาและความถี่ในการขึ้นไปประจำบนอวกาศว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร จากสมมติฐานนี้ทีมวิจัยจึงเก็บข้อมูลโดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองเป็นหลัก ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสแกนสมอง (MRI) ทั้งก่อนและหลังขึ้นบินของนักบินอวกาศทั้งหมด 30 คน แบ่งนักบินอวกาศเป็นกลุ่มตามช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ มีนักบินอวกาศ 8 คน ปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลารวม 2 สัปดาห์ ในขณะที่อีก 18 คน ปฏิบัติภารกิจยาวนาน 6 เดือน ส่วนอีก 4 คนที่เหลือปฏิบัติภารกิจนานสูงสุดถึง 1 ปี

จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสแกนสมองในแต่ละช่วงเวลาพบว่าโพรงสมองมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มีการขยายขนาดขึ้น ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงสุดอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ 2 สัปดาห์แรกนั้นกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ ภายในโพรงสมอง นอกจากนี้จากการติดตามผลต่อเนื่องในกลุ่ม 1 ปี กลับพบว่าใน 6 เดือนหลังนั้นอัตราการขยายกลับลดลง นักวิจัยสนใจผลลัพธ์นี้เป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าผลลัพธ์นี้อาจเป็นข่าวดีสำหรับภารกิจระยะยาวอย่างโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตและอาจกินเวลานานถึง 2 ปี รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอวกาศ (space tourism) ที่มีแผนการเดินทางระยะสั้น ผู้คนที่เดินทางไปบนอวกาศอาจไม่ได้รับผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของโพรงสมอง อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยท่านอื่นให้ความเห็นว่าเรายังไม่พบผลกระทบรุนแรงจากภาวะโพรงสมองขยายขนาดนี้มากนัก แต่นักบินอวกาศที่ต้องบินไปปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปอาจต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกตินานถึง 3 ปี

จะเห็นว่าแม้ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมอง แต่งานวิจัยของทีม ดร.เซดเลอร์นั้นถือว่าค่อนข้างมีผลอย่างมากต่อการวางแผนการสำรวจอวกาศระยะยาวในอนาคต รวมถึงการปรับแผนของนักบินอวกาศประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ และในอนาคตเรายังคงต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

About Author