Headlines

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 สาขาการแต่งตำรา

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 สาขาการแต่งตำรา เรื่อง หลักการและการประยุกต์ใช้เครื่องรังสีเอกซ์สองพลังงาน (
Principles and Clinical Applications of Dual-Energy X-Ray Absorptiometry

โรคกระดูกพรุน เป็นปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงแต่หากเป็นผู้สูงอายุมักจะเกิดได้ทั้งหญิงและชาย เพราะมีมวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักได้ง่าย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ เนื่องจากปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การให้การรักษาโรคนี้สามารถป้องกันการเกิดกระดูกหักได้ เพราะฉะนั้น การตรวจหาผู้มีความเสี่ยงเพื่อให้การรักษาจึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิตและคุณภาพชีวิต ด้วยวิธีการตรวจที่มีมาตรฐานทำโดยใช้เครื่องรังสีเอกซ์สองพลังงาน (dual-energy X-ray absorptiometry, DXA) ซึ่งนอกจากจะใช้ในการวินิจฉัยแล้ว ยังใช้ในการติดตามผลการรักษา ใช้ในตรวจหาการเกิดกระดูกสันหลังหัก และใช้ตรวจองค์ประกอบของร่างกาย เช่น มวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะโรคกล้ามเนื้อน้อย เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคนี้มาเป็นระยะเวลานาน ได้เรียนรู้จากผู้ป่วย สะสมตัวอย่างผู้ป่วยที่มีข้อมูลภาพที่น่าสนใจ ถ้าไม่ได้เอามาแบ่งปันหรือเผยแพร่ออกไปเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก และเห็นว่ายังไม่มีหนังสือภาษาไทยที่ครอบคลุมหลักการทำงานของเครื่องรังสีเอกซ์สองพลังงาน จึงได้นำประสบการณ์และภาพผลการตรวจเหล่านี้มาเรียบเรียงให้เป็นแหล่งความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาของหนังสือครอบคลุมวิวัฒนาการของแนวคิดมาตั้งแต่อดีตจนมาสู่เครื่องที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจุบัน โดยมีการควบคุมคุณภาพของเครื่องและการตรวจ การเตรียมผู้ป่วยอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์ค่า การแปลผล ข้อควรระวัง ปัญหาที่พบบ่อยในการตรวจ และแนวทางการแก้ไข ตลอดจนความปลอดภัยทางรังสี โดยเน้นให้มีภาพตัวอย่างประกอบความเข้าใจ เพื่อเป็นประโยชน์แก่รังสีแพทย์ แพทย์ผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ตลอดจนนักรังสีการแพทย์ นักฟิสิกส์ และนักวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุน และการตรวจองค์ประกอบของร่างกาย โดยเฉพาะภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

 รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ศรีธรา กล่าวถึงแรงผลักดันที่สำคัญในการแต่งตำรา เรื่อง หลักการและการประยุกต์ใช้เครื่องรังสีเอกซ์สองพลังงาน (Principles and Clinical Applications of Dual-Energy X-Ray Absorptiometry ว่า ผลงานในครั้งนี้ มาจากความรู้สึกที่ได้รับสิ่งที่ดีในชีวิต เมื่อเป็นเด็กได้รับการอุ้มชูสนับสนุนจากคุณย่าคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ น้อง ๆ ครูบาอาจารย์ เมื่อมีครอบครัวก็ได้รับความรักและกำลังใจจากครอบครัว เมื่อทำงานก็ได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชา ได้รับการสนับสนุนความเอื้อเฟื้อจากเพี่อนร่วมงานทุกระดับ ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ป่วย ทำให้รู้สึกว่าเราควรต้องตอบแทนความดีงามของทุกคนที่ให้กับเรามาโดยตลอด จึงฝากผลงานที่มีประโยชน์ไว้ และเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตตลอดการทำงาน จึงเป็นที่มาของการเรียบเรียงรวบรวมจนกระทั่งเป็นผลงานดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ศรีธรา ได้กล่าวถึวแนวคิดในการทำงานว่า นอกเหนือจากคำขวัญของมหาวิทยาลัยที่ว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” ก็พยายามยึดหลักที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า อยู่เย็น เป็นประโยชน์คือ อยู่ที่ใดก็อยากให้คนรอบข้างรู้สึกสบายใจ ไม่เดือดร้อนเพราะเรา และพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

สุดท้ายนี้ รู้สึกว่าดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าของผลงาน ซึ่งตระหนักดีว่าผลงานนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง แต่เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งสำนักพิมพ์รามาธิบดี จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยมหิดล อีกประการที่สำคัญ คือ คณาจารย์ เพื่อนร่วมงานที่ให้การสนับสนุนอย่างมาก รู้สึกว่าโชคดีที่ได้ทำงานที่นี่เป็นมงคลชีวิต ดังคำที่กล่าวไว้ “การอยู่ในถิ่นที่ดีงามเป็นมงคลอย่างยิ่ง” “ปฏิรูปเทสวาโส จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”

About Author