Headlines

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ด้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 (สาขาความเป็นครู)

“อิทธิบาท 4 ทฤษฎีแห่งความสำเร็จ”

ครู คือ ผู้ให้ นอกจากการสอนวิชาการแล้ว ในฐานะครูเราต้องสอดแทรกเรื่องจริยธรรมของวิชาชีพ โดยเฉพาะแพทย์เราเน้นการเสียสละเพื่อส่วนรวม สิ่งสำคัญ คือ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ความภูมิใจของครู คือ

การที่ได้เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและทำประโยชน์ให้สังคม

 

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นครูแพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ด้านโรคผิวหนังที่เกิดในเขตร้อน เช่น โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง โรคหิดเหา โรคเรื้อน เป็นต้น และเป็นที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก เกี่ยวกับงานวิจัยด้านโรคเขตร้อน

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ช่วงแรกมีความกังวลว่าตนเองจะทำได้หรือไม่ เพราะชอบการสอนแบบอภิปรายโต้ตอบกับนักศึกษา จึงต้องพยายามเรียนรู้การใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการสอนออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom โปรแกรม Webex และโปรแกรมต่าง ๆ ที่นักศึกษาสามารถโต้ตอบกับครูผู้สอนจากทางไกลได้พร้อมกันหลายคน เช่น โปรแกรม Kahoot โปรแกรม Poll Everywhere รวมถึงการสำรวจบทเรียนออนไลน์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เริ่มผลิตสื่อการสอนในรูปแบบวิดีโอ โดยการเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว สอดแทรกความรู้และกิจกรรมให้นักศึกษาตอบคำถามหลังจากเรียนผ่านสื่อการสอนรูปแบบวิดีโอจบ โดยมีการถ่ายทำนอกสถานที่ เช่น การเดินเที่ยวตลาดเช้าที่ขายเนื้อสัตว์และอาหารสดบนทางเท้า บริเวณใกล้กับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับโฮสต์ตัวกลางของปรสิตชนิดต่าง ๆ ที่อาจแพร่ระบาดในคนโดยการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารริมบาทวิถีของคนไทย ความน่าสนใจของข่าวจากสื่อโทรทัศน์เพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น เรื่องโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง โรคพยาธิตัวจี๊ด การสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ และกิจกรรมภาคสนามอื่น ๆ เช่น การกำจัดเหาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมเสมือนอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์จริง รวมทั้ง สื่อการสอนในรูปแบบวิดีโอช่วยในการถ่ายทอดความรู้ แสดงภาพเหตุการณ์หรือบุคคลที่เคลื่อนไหว ช่วยเพิ่มความเข้าใจและประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษา นักศึกษาสามารถหยุดและฟังการบรรยายได้หลายครั้งตามต้องการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสอนจึงมีส่วนสำคัญ ถือเป็นสื่อการสอนที่ทันสมัยและเอื้ออำนวยต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์  ใช้รูปแบบและเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ผสมผสานกันในหัวข้อที่สอน ขึ้นกับความเหมาะสมของเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของรายวิชา มีทั้งการอภิปราย ให้งานกลุ่มนักศึกษาล่วงหน้า ให้นักศึกษาค้นคว้าคำตอบมาสอนแสดงให้เพื่อน และการทำงานกลุ่มในห้องเรียน โดยใช้โปรแกรมเกมส์ให้ตอบคำถามเป็น Post test เพื่อให้ทราบว่านักศึกษาเข้าใจมากน้อยเพียงใดหลังเรียน การใช้บทบาทสมมติ เช่น ให้นักศึกษาแสดงเป็นแพทย์อธิบายการป้องกันโรคให้นักศึกษาอีกคนที่แสดงเป็นคนไข้ และให้นักศึกษาที่เหลือวิพากษ์ เป็นต้น

ด้านงานบริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ ได้ออกตรวจคลินิกโรคผิวหนัง ดูแลผู้ป่วยในโรคผิวหนัง ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ให้ความรู้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ในระดับประเทศและนานาชาติ และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เป็นทั้งครูผู้สอนและปรับปรุงหลักสูตรผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทอีกด้วย

ด้านงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ มุ่งเน้นงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับวัคซีนต่าง ๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ เป็นต้น

ในฐานะครูแพทย์ รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ นำหลักอิทธิบาท 4 มาปรับใช้ในการสอนนักศึกษาแพทย์ ได้แก่

  • ฉันทะ คือ รักในงานที่ทำ มีความสุขในการทำงานทุกเรื่อง
  • วิริยะ คือ ความขยันหมั่นเพียร ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
  • จิตตะ คือ ความเอาใจใส่รับผิดชอบ งานที่ได้รับมอบหมายทุกอย่างทำเต็มความสามารถ และทันตามเวลาที่กำหนด
  • วิมังสา คือ การไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์ คิดให้รอบคอบก่อนทำ

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ ได้ยึดแนวปรัชญาการดำเนินชีวิต “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่เป็นหลักในการทำงานมาโดยตลอด

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์ กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล (สาขาความเป็นครู) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ เป็นกำลังใจให้พัฒนางานต่อเนื่อง ขอขอบคุณต้นแบบที่สำคัญ คุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นครูคนแรก ครู อาจารย์ทุกท่านที่ได้สั่งสอนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อน ๆ อาจารย์ ลูกศิษย์ งานเทคโนโลยีการศึกษา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ร่วมงานทุกท่านที่ร่วมกันทำงานเป็นทีมเดียวกันตลอดมา

About Author