Headlines

ไทย-จีนผนึกกำลัง เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่การวิจัยในอวกาศ

โดย ปริทัศน์ เทียนทอง


ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับประเทศจีน ซึ่งมีโครงการที่น่าจับตามองคือ นักวิจัยไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจฉางเอ๋อ 7 (Change 7) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจดวงจันทร์ และภารกิจการวิจัยข้าวไทยในอวกาศด้วยดาวเทียมวิจัยฉือเจียน-19 (Shijian-19) สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสำรวจอวกาศ ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มาภาพ : GISTDA

จุดเริ่มต้นความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ถือได้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือในหลากหลายด้าน รวมถึงการวิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศร่วมกัน

ที่มาภาพ : CNSA

ผลจากการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนได้ร่วมกับหน่วยงานของไทย 2 แห่ง ภายใต้กระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) ขับเคลื่อนงานวิจัยด้านอวกาศในประเทศไทยที่น่าสนใจหลายโครงการ

 ที่มาภาพ : International Atomic Energy Agency

 

กรอบการดำเนินการหลักของโครงการ

ก้าวสำคัญของงานวิจัยไทยด้านรังสีคอสมิกและการสำรวจอวกาศ

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทยกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรังสีคอสมิกและการสำรวจอวกาศ ซึ่งไม่เพียงน่าตื่นเต้น แต่ยังมีประโยชน์มหาศาลต่อมนุษยชาติอีกด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล และทีมวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกที่ทันสมัย ใช้งานได้จริงในสภาพแวดล้อมของอวกาศ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในโครงการสำรวจอวกาศที่สำคัญระดับนานาชาติ

หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นคือการพัฒนาเครื่องตรวจวัดอนุภาคที่มีความแม่นยำสูง มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้งานในอวกาศ และซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ด้วยความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center: TMEC) ทีมวิจัยได้ออกแบบและสร้างเครื่องตรวจวัดจากแผ่นซิลิคอนที่มีความไวสูง และพัฒนาแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายสัญญาณจากเครื่องตรวจวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการจำลองและทดสอบระบบอย่างเข้มงวด รวมทั้งการร่วมมือกับโรงเรียนอัสสัมชัญบางรักในการใช้ลูกบอลลูนเพื่อนำเครื่องวัดไปทดสอบในบรรยากาศชั้นสูง เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือนี้จะทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือในสภาวะที่ท้าทายของอวกาศ

ทีมวิจัยยังมีส่วนร่วมในโครงการอวกาศที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการ Polar Orbiting Ion Spectrometer Experiment (POISE) ที่จะส่งเครื่องวัดกัมมันตรังสีขึ้นไปกับดาวเทียม TSC-1 ของภาคีอวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) ในปี พ.ศ. 2570 และโครงการ Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) ซึ่งจะส่งเครื่องวัดกัมมันตรังสีไปสำรวจดวงจันทร์ร่วมกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ของจีนในปี พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ยังมีโครงการ Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons (ALIGN) ที่ยื่นข้อเสนอเพื่อศึกษาอนุภาคนิวตรอนบนดวงจันทร์ และโครงการ Space Situational Awareness (SSA) ที่มุ่งเพิ่มความมั่นคงทางอวกาศของประเทศไทย

 

ภาพการออกแบบอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (MATCH)

 

อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (MATCH) งานวิจัยหนึ่งเดียวของไทยในภารกิจฉางเอ๋อ 7

จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพิชิตดวงจันทร์ ดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก จีนเดินหน้าสำรวจดินแดนแห่งนี้ ดินแดนที่แฝงไปด้วยทรัพยากรอันล้ำค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุหายากหรือแหล่งพลังงานมหาศาล การสำรวจดวงจันทร์ของจีนจึงไม่ใช่แค่ก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์  แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่อาจนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบนโลกได้อีกด้วย

โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน (China’s Lunar Exploration Program: CLEP) ที่เรียกกันว่า ภารกิจฉางเอ๋อ (Change: CE) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การโคจรรอบดวงจันทร์ การลงจอดบนดวงจันทร์ และการกลับจากดวงจันทร์


ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง (Wenchang) ในภารกิจฉางเอ๋อ 6
เมื่่อวันที่่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยในอนาคตอันใกล้จะมีภารกิจของไทยร่วมเดินทางไปกับยานฉางเอ๋อ 7
ที่่มาภาพ : CNSA

นับตั้งแต่ภารกิจฉางเอ๋อ 6 เป็นต้นมา จีนเปิดให้มีการบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ (payload) ระหว่างประเทศบนยานฉางเอ๋อ ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สร้างขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือในวงโคจรของดวงจันทร์ สามารถดำเนินกิจกรรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบสหสาขาวิชาชีพและหลากหลายวัตถุประสงค์ได้ คำแถลงจากองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) และองค์การอวกาศแห่งชาติจีนเน้นย้ำว่าโครงการนี้จะเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศและพันธมิตรระหว่างประเทศที่สนใจ

และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และวิจัยเพื่อรองรับภารกิจการสำรวจอวกาศของยานฉางเอ๋อ 7 เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ ชื่อว่า Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope หรือ MATCH” สำหรับตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูง ได้แก่ อิเล็กตรอนและโปรตรอน ภายใต้รังสีคอสมิกในอวกาศ และศึกษาผลกระทบจากดวงอาทิตย์ต่อโลกและดวงจันทร์จากอนุภาคที่ตรวจวัดได้ โดยโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์ที่จะติดตั้งไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ภายในปี พ.ศ. 2569

ยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 (Chang’E-7)

เปิดข้อมูลอุปกรณ์ไฮเทคตรวจวัดสภาพอวกาศ

โครงการ MATCH หรือโครงการเครื่องมือตรวจวัดอนุภาคไทย-จีนรอบดวงจันทร์ เป็นความร่วมมือระหว่างทีมพัฒนาจากประเทศไทย 22 คน นำโดย ดร.พีระพงศ์ ต่อฑีฆะ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.เดวิด รูฟโฟโล และทีมพัฒนาจากประเทศจีน 7 คน  โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศบนยานโคจรรอบดวงจันทร์ (lunar orbiter) ในภารกิจฉางเอ๋อ 7 ซึ่งจะโคจรที่ระดับความสูง 200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์

อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศนี้มีน้ำหนักประมาณ 4,900 กรัม มีขนาดกว้าง 130 มิลลิเมตร ยาว 110 มิลลิเมตร สูง 250 มิลลิเมตร ภายในประกอบด้วยตัวตรวจวัดซิลิกอน 7 ชั้น ทำหน้าที่จำแนกอัตลักษณ์ของอนุภาคพลังงานสูงแต่ละชนิด ตรวจวัดทิศทางของอนุภาคมีประจุ และศึกษาอิทธิพลของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ที่มีต่ออนุภาคเหล่านี้ และมีเป้าหมายที่จะตรวจวัดอิเล็กตรอนที่เป็นส่วนหนึ่งของรังสีคอสมิก (cosmic ray electrons) ซึ่งมีพลังงานจลน์สูงถึง 100 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (MeV) ในอวกาศอย่างต่อเรื่องเป็นครั้งแรก และจะวัดรังสีสะท้อน (albedo particles) ที่เกิดจากการชนของรังสีคอสมิกกับผิวดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภัยสำหรับนักบินอวกาศ นอกจากนี้จะเฝ้าติดตามผลจากการเกิดพายุสุริยะอีกด้วย

ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์นี้ จะนำไปสู่การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยด้านสภาพอวกาศให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์รังสีภาคพื้น เครื่องมือวัดเชิงรังสีทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุปกรณ์ให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 และส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ภายในปี พ.ศ. 2569

ที่มาภาพ : CNSA

ข้าวไทยกับโอกาสการออกรวงในอวกาศ

ในอนาคตการปลูกพืชในอวกาศจะมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อมนุษย์เริ่มออกเดินทางไปสำรวจอวกาศระยะยาว เช่น การตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคารผ่านโครงการอาร์เทมิส (Artemis) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรในอวกาศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศและทดแทนการส่งอาหารจากพื้นโลก แม้จะต้องเผชิญความท้าทายมากมายไม่ว่าจะเป็นสภาวะไร้น้ำหนัก รังสี การควบคุมสภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่การปลูกพืชในอวกาศก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นแหล่งอาหารและออกซิเจน ช่วยฟอกอากาศ และส่งเสริมสุขภาพจิตของนักบินอวกาศ

ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ได้ศึกษาการปรับตัวของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมรุนแรงเพื่อประยุกต์ใช้พืชสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศ (space exploration) และเกษตรกรรมอวกาศ (space agriculture) โดยได้ส่งข้อเสนอโครงการ “Multi-omics analysis of Germinating Rice Seedlings Under Extreme Environmental Conditions” เพื่อส่งชุดการทดลองขึ้นไปกับดาวเทียมฉือเจียน-19 ซึ่งเป็นดาวเทียมวิจัยรุ่นล่าสุดที่นำกลับมาใช้งานซ้ำได้ (reusable satellite) และได้รับการตอบรับจากองค์การอวกาศแห่งชาติจีนร่วมมือศึกษาการปรับตัวของต้นกล้าข้าวในอวกาศ

โครงการนี้มุ่งศึกษาการตอบสนองของต้นกล้าข้าวสายพันธุ์ไทยต่อรังสีคอสมิกและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อพัฒนาและคัดเลือกข้าวไทยสำหรับการเกษตรอวกาศในอนาคต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร ภารกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน  เช่น องค์การอวกาศแห่งชาติจีน, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.)

ทีมวิจัยได้นำส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 35 หลอด ไปพร้อมกับดาวเทียมวิจัยฉือเจียน-19 ซึ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดขับเคลื่อน LongMarch 2D จากท่าอวกาศยานจิ่วเฉวียน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 17.30 น. เพื่อทดลองการเจริญเติบโตของต้นข้าวไทยภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและสัมผัสกับรังสีคอสมิกเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจะส่งต้นกล้ากลับมายังพื้นโลกเพื่อวิเคราะห์ผลการทดลองด้วยเทคนิคมัลติโอมิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการค้นพบข้าวที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมรุนแรง การพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารภายใต้สภาวะวิกฤต และการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต

ความร่วมมือครั้งนี้ยกระดับมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่วิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในวงโคจรโลก และเป็นหน่วยงานแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอวกาศแห่งชาติจีนโดยไม่คิดมูลค่า นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านชีววิทยาอวกาศของประเทศ

โอกาสของประเทศไทยในการเข้าร่วมภารกิจการสำรวจอวกาศ

ดร.ทัฏพงศ์ได้อธิบายถึงความเป็นมาของเกษตรกรรมอวกาศและแผนการวิจัยเพื่อเข้าร่วมภารกิจการสำรวจอวกาศของประเทศไทยไว้ว่า ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่จำเป็นต่อการสร้างจรวดหรือยานอวกาศภายในประเทศ แต่สิ่งที่ประเทศไทยพร้อมดำเนินการได้เลยในวันนี้คือการวิจัยด้านชีววิทยาอวกาศ การเกษตร และการแพทย์เพื่อการประยุกต์ใช้ในอวกาศ ซึ่งเป็นสาขาวิจัยที่ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ใช้งบประมาณสูงกว่าการวิจัยลักษณะเดียวกันไม่มาก และยังประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ซึ่งในมุมมองของตนเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของประเทศและดีใจที่ได้เห็นการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับผู้วางนโยบาย ผู้ให้ทุน หน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนั้นองค์การอวกาศของต่างชาติยังสนใจและสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินภารกิจการวิจัยด้านการเกษตรอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ภายใต้โครงการ KIBO-ABC องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ภายใต้โครงการ HyperGES และล่าสุดคือองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนภายใต้ภารกิจฉือเจียน-19 ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นสาขาวิจัยด้านชีววิทยาอวกาศทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนในรูปแบบ in-kind เต็มจำนวนจากองค์การอวกาศต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความสนใจจากนานาชาติและความต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมภารกิจ

ที่มาภาพ : NASA

มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำด้านชีววิทยากับสภาพแวดล้อมในอวกาศ

ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนการก่อตั้ง Thai Gravitational & Space Biology Consortium ประกอบด้วยกลุ่มวิจัยที่ดำเนินการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในอวกาศจำนวน 4 ห้องปฏิบัติการคือ กลุ่มวิจัยของ ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ภาควิชาสรีวิทยา ศึกษาผลกระทบของสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำในสถานีอวกาศนานาชาติต่อพัฒนาการและความเสียหายของของกระดูก ร่วมกับ JAXA กลุ่มวิจัยของ รศ. ดร.สิทธินันท์ ชนะรัตน์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ศึกษาผลกระทบของสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) ต่อความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อราคริปโทค็อกคัส (Cryptococcus) กลุ่มวิจัยของ รศ. ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ภาควิชาฟิสิกส์ ศึกษาลักษณะการแพร่กระจายโรคติดต่อที่แพร่กระจายทางอากาศ (airborne diseases) ภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์การแพร่ระบาดของโรคในสถานีอวกาศนานาชาติ และกลุ่มวิจัยของ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ซึ่งศึกษาการตอบสนองของพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ไข่น้ำ ภายใต้สภาวะแวดล้อมรุนแรงเพื่อการเกษตรอวกาศในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนจาก ESA และ CNSA

ห้องปฏิบัติการทั้ง 4 แห่ง ได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ และกำลังคนจากองค์การอวกาศนานาชาติ และ บพค. ซึ่งช่วยให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพในอวกาศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแพทย์และการเกษตรอวกาศ

ก้าวสู่อนาคตที่สดใสความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีน

ความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทย-จีนกำลังเบ่งบานและมีอนาคตที่สดใส ทั้งสองประเทศวางแผนขยายความร่วมมือหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาดาวเทียมร่วมกัน การสร้างสถานีภาคพื้นดิน หรือแม้แต่การส่งนักบินอวกาศไทยไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ซึ่งแน่นอนว่าจะเปิดโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยได้สำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อคนไทยและมวลมนุษยชาติ  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการส่งเสริมให้นักวิจัยไทย เช่น ดร.เดวิด และ ดร.ทัฏพงศ์ ได้มีโอกาสทำงานวิจัยระดับโลก สร้างผลงานอันทรงคุณค่าต่อวงการวิทยาศาสตร์

ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะยกระดับเทคโนโลยีอวกาศของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต และที่สำคัญคือการบ่มเพาะ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ให้มุ่งมั่นศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

About Author