เรื่องโดย ผศ. ดร.ลัดดา แต่งวัฒนานุกูล
คนเรากินทองเป็นอาหารไม่ได้ พอมองไปรอบตัวเราไม่เห็นใครเอาทองมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันเลย ดังนั้นแล้วเหตุใดทองจึงมีราคาแพง เพียงเพราะมันหายากแค่นั้นหรือ เมื่อลองนึกถึง “ทองคำ” ภาพแรกที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงคือความสวยงาม แวววาว แต่ยากที่จะเชื่อว่าแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวจะทำให้โลหะชนิดหนึ่งมีคุณค่ามหาศาล และกลายเป็นเสาหลักขับเคลื่อนประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้
จริง ๆ แล้วตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์นำทองมาใช้ประโยชน์ได้ ทองมีข้อดีคือ ยืดหยุ่น เอามาหลอมใหม่เป็นรูปทรงอะไรก็ได้ เหมาะแก่การทำเครื่องใช้เครื่องประดับ อีกด้านหนึ่งทองก็ทนทานและอยู่ได้นาน ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มักมีคุณค่าทางจิตใจและประวัติศาสตร์ สวนทางกับคุณค่าทางวัตถุที่เสื่อมถอยลง หากของชิ้นนั้นทำมาจากทอง มันแทบจะดูไม่เก่าเลย แถมยังมีคุณค่าทางจิตใจด้วย คุณสมบัติเหล่านี้ประกอบกับทองเป็นแร่ธาตุหายาก ยิ่งช่วยเสริมให้ทองเป็นของมีราคามาตั้งแต่อดีตกาล
สมัยอียิปต์โบราณ ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าและความเป็นอมตะ โดยฟาโรห์ที่ปกครองอียิปต์สั่งการให้ขุดหาทองคำจากเหมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่นูเบีย เพื่อใช้สร้างสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและเป็นเครื่องประดับของกษัตริย์
สมัยกรีกและโรมัน ทองคำเป็นเครื่องหมายของความมั่งคั่งและอำนาจ โดยเฉพาะในยุคโรมันที่นำทองคำมาใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนทางการค้า ทองคำยังมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนาและในศิลปะการสร้างพระราชวังและวัด
ทองเป็นแร่ธาตุหายาก การค้นหาและสำรวจแหล่งสะสมตัวของแร่ทองคำ การทำเหมืองแร่ทองคำ จนถึงกระบวนการสกัดทองคำจากธรรมชาติไม่ได้เป็นเรื่องง่าย การทำเหมืองทองคำเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความชำนาญอย่างยิ่งเพื่อนำเอาโลหะมีค่านี้ขึ้นมาจากใต้ผืนดิน
การสำรวจและขุดหาแหล่งสะสมของทองคำเริ่มจากการค้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพ การทำเหมืองมีหลายวิธี ทั้งการขุดแบบเปิดหรือการทำเหมืองใต้ดิน ขึ้นอยู่กับลักษณะของแหล่งทองคำ กระบวนการสกัดทองคำยังต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การบด การแยกทองคำจากหินและแร่ รวมถึงการใช้สารเคมีเพื่อทำให้ทองคำบริสุทธิ์ กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้ทั้งทรัพยากรและความเชี่ยวชาญสูง แม้จะยากลำบากเพียงใด แต่การค้นพบและสกัดทองคำก็ยังคงมีความสำคัญ ไม่เพียงในแง่เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเชื่อด้วย ทองคำนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและศิลปะมาตั้งแต่โบราณ ผู้คนในยุคก่อนเชื่อว่าทองคำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีพลังในการคุ้มครอง ปกป้อง และเชื่อมต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับทองคำในหลุมศพโบราณ เช่น สุสานวาร์นาในประเทศบัลแกเรีย ที่สร้างขึ้นระหว่าง ศ.ศ. 4700-4200 ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางสังคมและความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
ในช่วงศตวรรษที่ 19 การค้นพบทองคำในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศแอฟริกาใต้ นำไปสู่ปรากฏการณ์ “ยุคตื่นทอง” (gold rush) ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเดินทางไปแสวงหาโชคลาภ ซึ่งทองคำในช่วงนี้ไม่เพียงแค่เป็นสินค้าที่มีค่าเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน และการสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่มีการขุดพบแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก
การทำเหมืองในบริเวณแม่น้ำของชาวอเมริกันใกล้เมืองแซคราเมนโต ราวปี ค.ศ. 1852 เป็นช่วงเวลาที่การทำเหมืองแร่ทองคำในสหรัฐอเมริกาเฟื่องฟู หรือที่เรียกว่า “ยุคตื่นทอง” คนงานเหมืองหลายคนสวมเสื้อผ้ายุควิกตอเรีย และใช้เครื่องมือขุดหาและร่อนทองตามแม่น้ำและโขดหิน เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการทำเหมืองในยุคนั้นเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากและมีบรรยากาศพลุกพล่าน โดยมีคนงานหลากหลายหน้าที่ ตั้งแต่ขุด เจาะ ไปจนถึงจัดการน้ำเพื่อล้างแร่ทอง
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org
บทบาทของทองคำในระบบการเงินโลก
ในศตวรรษที่ 20 ทองคำกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบการเงินโลก รัฐบาลหลายประเทศใช้ทองคำเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการคำนวณค่าเงินและสำรองเงินตรา รวมทั้งมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากมีมูลค่าคงที่และไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods system) กำหนดให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยึดโยงกับทองคำ ส่งผลให้ทองคำมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลก จนกระทั่งสหรัฐฯ ยกเลิกการอ้างอิงค่าเงินกับทองคำในปี ค.ศ. 1971
การประกาศยกเลิกในปีดังกล่าวทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องกล่าวก่อนว่า ระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) จัดเป็นระบบการเงินระหว่างประเทศที่ใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870-1920 เป็นระบบที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา หากแต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจขึ้น อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ จึงมีเกิดระบบฐานเศรษฐกิจ fiat money หรือเงินที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวมันเอง ทำให้ระบบมาตรฐานทองคำสิ้นสุดลง
ทองคำในยุคปัจจุบันจัดเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มั่นคง
จากความต้องการทองคำที่ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เป็นเงินตราหลักอีกต่อไป แต่มันกลับกลายเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน นักลงทุนหันมาถือครองทองคำเพื่อลดความเสี่ยง และการซื้อขายทองคำก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
กลับมาคำถามแรกสุด ทองไม่มีประโยชน์ใช้สอยจริงหรือเปล่า เป็นแค่ของสวย ๆ งามๆ ไว้ประดับร่างกาย หรือโบสถ์วิหารเท่านั้นจริงหรือ รู้หรือไม่ว่าในโทรศัพท์มือถือของเรามีทองคำเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 50 มิลลิกรัม ทองผุพังและขึ้นสนิมยาก เหมาะแก่การนำไฟฟ้าความต่างศักย์ต่ำแบบที่เราใช้ในโทรศัพท์ แม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ก็มีทองคำเป็นส่วนผสมเช่นกัน เพราะความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยตรงนี้เอง ทองคำจะยังเป็นแร่ธาตุที่มนุษย์เราใฝ่หาไปอีกนาน