เรื่องโดย รวิศ ทัศคร
สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ทำให้การยอมรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ มีมากขึ้น มีอาหารพร้อมรับประทานบางชนิดพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการทหารก่อนออกสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป ในช่วงแรกผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ชอบ และมองว่าดีสู้อาหารที่ทำเองในบ้านไม่ได้ เนื่องจากความเคยชินในวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เชื่อว่าอาหารที่ทำในบ้านย่อมดีที่สุด ดีกว่าอาหารแปรรูปจากโรงงาน
ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องออกไปทำงานแทนผู้ชายที่ต้องเข้าประจำการ ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางสังคมช่วงต่อมาทั้งเรื่องสิทธิสตรีและอื่น ๆ รวมถึงในแง่ที่ว่าผู้หญิงที่เป็นคนทำงานในยุคนั้นมีเวลาเตรียมอาหารให้ที่บ้านน้อยลง วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป คนจึงเริ่มมีความต้องการอาหารที่เตรียมได้ง่าย ประกอบกับระบบการปันส่วนอาหาร (food rationing) ในยุคสงครามที่อาหารขาดแคลน โดยเฉพาะน้ำตาลและเนย ทำให้ผู้คนหาของมาตุนไว้เพื่ออบเบเกอรีกินที่บ้านลำบากขึ้น สถานการณ์ในช่วงทศวรรษ 1940s ซึ่งเป็นยุคปลายสงครามโลกครั้งที่สอง (สงครามโลกเกิดช่วง ค.ศ. 1939-1945) คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจึงเริ่มเปิดใจกับขนมปังที่ผสมสำเร็จรูป รวมถึงอาหารผสมสำเร็จที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930s แต่ไม่เคยได้รับความสนใจ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารขาดแคลนและมีจำกัด หลายประเทศนำระบบปันส่วนอาหารมาใช้เพื่อกระจายอาหารให้พอเพียงสำหรับทุกคน โดยประชาชนต้องลงชื่อและได้รับสมุดปันส่วนอาหารจากรัฐบาลเสียก่อนจึงจะนำมาซื้ออาหาร เช่น น้ำตาล เนย เนื้อสัตว์ ได้
นับจากนั้นการผลิตอาหารในเชิงพาณิชย์จึงเกิดขึ้น แน่นอนว่าการผลิตขนาดใหญ่ทำให้มีปัญหาหลายอย่าง แต่ก็มีการออกกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ ก่อนจะวิวัฒนาการมาเป็นห่วงโซ่อุปทานอาหารที่สะดวกสบาย ส่งจำหน่ายได้สม่ำเสมอ มีความสมดุลทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังหันมารับประทานขนมปังที่ผลิตจากโรงงาน แทนการอบที่บ้าน อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของออสเตรเลียก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องแบบใหม่ที่นำดอกกะหล่ำ กะหล่ำดาว (Brussels sprout) และมะเขือเทศทั้งลูกมาผลิตเป็นอาหารกระป๋อง และด้วยความต้องการกระป๋องเปล่าสูงขึ้นมาก การนำเข้าอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงมีการก่อตั้งโรงงานผลิตกระป๋องดีบุกโรงแรกในประเทศออสเตรเลียขึ้นในปี พ.ศ. 2500
จุดเริ่มของอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ในประเทศไทย
จุดกำเนิดของอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ในประเทศไทยเองนั้น บริษัทแรก ๆ ที่มีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมอาหารคือ บริษัทไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำปลายี่ห้อ “ทิพรส” ที่ก่อตั้งโดยนายไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง ซึ่งเริ่มต้นจากทดลองคัดพันธุ์ปลาที่เหมาะจะนำมาผลิตน้ำปลาในโอ่งดินในช่วงปี พ.ศ. 2456 จนกระทั่งประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นในแถบจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง และได้ตั้งโรงงานผลิตน้ำปลา “ทั่งซังฮะ” ขึ้นในปี พ.ศ. 2462 ณ ท่าเรือฮกเกี้ยน จังหวัดชลบุรี เกิดเป็นน้ำปลาตรา “ทิพรส” วางจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน
นอกจากน้ำปลาทิพรสแล้วยังมีน้ำปลาเก่าแก่อีกยี่ห้อหนึ่งคือ น้ำปลาแท้ ตรา “หอยนางรม” เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทน้ำปลาพิไชย จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำส้มสายชู พริกน้ำส้ม น้ำปลาพริก รวมทั้งน้ำปลาตราอื่น เช่น ปลาไส้ตัน อีกด้วย
อุตสาหกรรมอาหารไทยเริ่มมีบทบาทขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2485 สามปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะถึงจุดสิ้นสุด โดยปีเดียวกันนั้นมีบริษัทผลิตอาหารแห้งก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย คือ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อ “เฮียบเซ่งเฮง” ในยุคแรกบริษัทผลิตอาหารแห้งจำพวกขนมขบเคี้ยว ก่อนจะขยายสายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนตามลำดับ
ความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศและยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังส่งผลให้หลังจากปี พ.ศ. 2510 อุตสาหกรรมผลิตกระป๋องและบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารเติบโตขึ้นด้วย เพราะมีการส่งออกอาหารแปรรูปมากขึ้นในตลาดนอกประเทศ
ในปี พ.ศ. 2515 บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูปชื่อดัง “มาม่า” ก็เริ่มเปิดดำเนินกิจการ จนบะหมี่สำเร็จรูปกลายเป็นสินค้าหลักที่นิยมแพร่หลายในประเทศและต่างประเทศ จวบจนปี พ.ศ. 2520 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง “มาม่า” รวมทั้ง “ไวไว” ซึ่งเป็นของอีกบริษัทหนึ่ง มียอดขายเติบโตขึ้นมากจนมีการขยายโรงงานผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยเติบโตขึ้นไปอีกขั้น
จวบจนปี พ.ศ. 2535 มีการเปิดเสรีการค้าภายใต้ข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ส่งผลกระทบเป็นปัจจัยบวกเสริมให้เกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารบ้านเรา เพราะเมื่อเปิดเสรีทางการค้า ไทยก็ส่งออกอาหารไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป มีบริษัทอย่างไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตปลาทูน่าเจ้าใหญ่ส่งออกไปทั่วโลก แม้ในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของไทยก็ยังคงปรับตัวได้ และฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศ
การเกิดขึ้นของสาขาวิชาในสายอุตสาหกรรมเกษตรและสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
จากประวัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมอาหารเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ 1940s ที่ทั่วโลกกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวงการการศึกษาเองก็เริ่มก่อตั้งสาขาวิชาและวางรากฐานของกลุ่มสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างวิทยาศาสตร์ชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิศวกรรมอาหาร ฯลฯ เพื่อผลิตบุคลากรเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย
มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ของอังกฤษ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแรก ๆ ที่เปิดสอนสาขาวิชากลุ่มนี้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส (UC Davis) ที่แคนาดามีมหาวิทยาลัยเกวลฟ์ (University of Guelph) ที่ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ริเริ่มเปิดการสอนสาขาวิชากลุ่มนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน และยังเป็นศูนย์กลางของการวิจัยสาขาวิชากลุ่มนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของสาขาวิชากลุ่มนี้ในประเทศไทยมีจุดเริ่มที่การก่อตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2505 และต่อมาได้ย้ายมาสังกัดคณะอุตสาหกรรมเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยเน้นการศึกษาด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมอาหารในยุคนั้นมาจนทุกวันนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งภาควิชาเคมีเทคนิคขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมีเนื้อหาเน้นไปในด้านวิศวกรรมเคมีและวิชาเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาได้แตกออกมาเป็นหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารในปี พ.ศ. 2507 กลายเป็นสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหารขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรรูปอาหาร วิศวกรรมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
ในส่วนภูมิภาค ปี พ.ศ. 2515 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดสอนภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สังกัดอยู่ในคณะเกษตรศาสตร์ และแยกตัวออกจากคณะเกษตรศาสตร์มาจัดตั้งเป็นคณะอุตสาหกรรมเกษตรในปี พ.ศ. 2535 โดยช่วงแรกใช้อาคารเรียนของคณะเกษตรศาสตร์อยู่ และย้ายไปที่สถานีวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เริ่มเปิดคณะทรัพยากรธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งมีหลักสูตรและภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร และรับนักศึกษาบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร และจัดตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาโดยแยกตัวจากภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจึงได้เปิดสอนวิชาการในสาขากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง
จากทั้งหมดที่เล่ามา ทุกท่านคงจะเห็นภาพของประวัติและการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีทางอาหาร และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ว่าเหตุผลักดันที่ทำให้เกิดวงการนี้ขึ้นมาก็คือการขยายตัวของอุตสาหกรรมและประชากร วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นยุคสมัยใหม่ รวมถึงความต้องการของผู้คนในช่วงที่โลกกำลังฟื้นตัวจากบาดแผลจากสงครามโลกนั่นเอง ส่วนการพัฒนาในอนาคตภายหน้าของวงการนี้ น่าจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประชากรสูงวัย อาหารที่มีฤทธิ์เป็นยาและอาหารเชิงหน้าที่ รวมไปถึงกระบวนการผลิตอาหารสำหรับการตั้งถิ่นฐานในอวกาศ ซึ่งถ้ามีโอกาสจะไม่ลืมนำมาเล่าให้ฟังกันต่อในคราวถัดไปครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- https://www.britannica.com/biography/Clarence-Birdseye
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clarence_Birdseye
- https://www.mama.co.th/th/ความเป็นมา
- https://www.longtunman.com/16918
- https://www.tiparos.com/aboutus/
- https://www.diw.go.th/webdiw/history/
- https://th.wikipedia.org/wiki/สหพัฒนพิบูล
- https://agro.ku.ac.th/th/agro-department/food-science-and-technology/
- https://th.wikipedia.org/wiki/คณะทรัพยากรธรรมชาติ_มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- https://th.wikipedia.org/wiki/คณะอุตสาหกรรมเกษตร_มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- https://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/orthers/newengineofgrowth.pdf