“อุตสาหกรรมชีวเคมีภัณฑ์” (Biorefinery) ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศในการก้าวขึ้นสู่การเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของอาเซียน“ (Bio Hub of Asian) ตามมาตรฐานพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพไทยภายในปี พ.ศ. 2570 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุนวัตถุดิบในการผลิตชีวเคมีภัณฑ์อย่างเช่น “แคโรทีนอยด์” (Carotenoids) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มคุณค่า และมูลค่าในอาหารเสริม และเครื่องสำอาง ซึ่งคาดว่าจะทำมูลค่าได้สูงถึงเกือบ 6 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2568
อาจารย์ ดร.อัครพล วัชราวิภาส อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมกับทีมวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนาเซลล์ยีสต์ลูกผสมสำหรับการสร้างสารประกอบแคโรทีนอยด์
โดยใช้ชุดยีนใหม่ (novel crt gene combination) จาก “ยีสต์สีแดง” ที่แยกได้จาก “ใบข้าวไทย” ทำให้สามารถผลิตสารเบต้าแคโรทีน (BetaCarotene) ที่เป็น Pro-vitamin A ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจก อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้สูงกว่าระดับที่ได้จากชุดยีนที่เคยมีรายงานไว้ก่อนหน้านี้ถึง 7 เท่าเป็นครั้งแรก
นับเป็นผลพวงจากข้อได้เปรียบในความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในเขตร้อนที่มากกว่าประเทศในเขตหนาว ซึ่งสามารถใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการดึงดูดการลงทุนที่นำไปสู่ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Federation of European Microbiological Societies (FEMS) Yeast Research” จนได้รับทั้งสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรในเวลาต่อมา
ด้วยยีสต์สายพันธุ์ไม่ก่อโรค ที่เพาะเลี้ยงด้วยวิศวกรรมชีวกระบวนการ (Bio Process Engineering) เมื่อเทียบกับสารสกัดจากกระบวนการเกษตร มั่นใจได้ถึงการเป็นชีวเคมีภัณฑ์มาตรฐาน “GRAS” (Generally Recognized as Safe) จาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี
อีกทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุน และเวลาจากการสามารถลดกระบวนการผลิตที่ต้องสูญเสียไปกับการลงทุนในการปลูกพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพ และปริมาณของพืชวัตถุดิบที่ต้องส่งป้อนโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่ทำให้สายพานติดขัด
นอกจากนี้ ยังวางใจได้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิด “มะเร็ง“ ซึ่งจากงานวิจัยที่ผ่านมาได้มีผลพิสูจน์แล้วว่าเกิดจากกระบวนการผลิตทางเคมีที่นอกจากจะทำลายชีวิตแล้ว ยังจะต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้จากปิโตรเลียมต่อไปอีกนับไม่ถ้วน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตสู่ “ชีวเคมีภัณฑ์” ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง จากการสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอย่างล้นเหลือ
ที่สำคัญจะช่วยสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปอย่างมหาศาล จากการสามารถผลิตสารแคโรทีนอยด์ที่มีคุณค่า ในราคาที่ต่ำกว่า โดยอยู่ระหว่างการเร่งสร้างกำลังการผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210