ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่รุนแรงตามมาได้ หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน
อาจารย์ ดร.รัชนก พลเยี่ยม อาจารย์ สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพชุมชน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคเบาหวานที่พบในหญิงตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1. โรคเบาหวานที่มีอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ (pregestational diabetes mellitus) หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2. โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus) หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทั่วไปมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งทั้ง 2 ชนิดดังที่กล่าวมา มีส่วนทำให้มารดาและทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานอย่างมาก ทั้งนี้ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเด็กและวัยรุ่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ในผู้หญิง 60.2% มากกว่าผู้ชาย 39.8% และส่งผลกระทบต่อการวางแผนตั้งครรภ์ และเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องการเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น
จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยปี 2562 – 2563 พบว่า 60% ผู้หญิงไทยที่มีอายุระหว่าง 15 – 29 ปี มีภาวะ โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงตั้งครรภ์ และมีความสัมพันธ์กับอัตราการตายของทารกที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหญิงที่มีโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการคัดกรองโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในช่วงการตั้งครรภ์ และการจัดการดูแลอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม อาจลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองในระหว่างการตั้งครรภ์และประสบการณ์การให้นมบุตรในผู้หญิงไทยที่มีโรคเบาหวานประเภท 2 อยู่ก่อนแล้ว โดย 1) อธิบายทัศนคติและความมั่นใจในการจัดการโรคเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์; 2) อธิบายอุปสรรคและปัจจัยส่งเสริมในการจัดการโรคเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์; 3) อธิบายความมั่นใจและความตั้งใจในการให้นมบุตรในระหว่างการตั้งครรภ์; และ 4) อธิบายอุปสรรคและปัจจัยส่งเสริมในการให้นมบุตรในผู้หญิงหลังคลอด โดยสามารถอ่าน Study protocol ได้ที่
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0286646
ดังนั้นหากภาครัฐมีการส่งเสริมการคัดกรองโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ อีกทั้ง ยังลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับภาครัฐ และช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพ การพัฒนาแนวทางการรักษาดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป