เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์
งูทะเลอยู่ในวงศ์ Elapidae หรือวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า เช่นเดียวกับงูตัวท็อปของวงการงูพิษอย่างงูทับสมิงคลา งูเห่า งูจงอาง งูทะเลจึงมีพิษร้ายแรงไม่แพ้ญาติที่เอ่ยนามมา แถมหลายชนิดมีพิษร้ายแรงกว่าพวกญาติที่อยู่บนบกหลายเท่า
ค่าที่ใช้บอกความรุนแรงของพิษงูคือ lethal dose 50 (LD50) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้บ่งบอกปริมาณสารพิษที่ทำให้สัตว์ทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งตาย พิษของงูเห่าไทยมีค่า LD50 ประมาณ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่พิษของงูทะเลอย่างงูแสมรังเกล็ดเบลเชอร์ (Hydrophis belcheri) มีค่า LD50 ประมาณ 0.0001 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อธิบายให้เห็นภาพคือ หนูทดลองน้ำหนัก 1 กิโลกรัมจะมีโอกาสตาย 50 เปอร์เซ็นต์หากได้รับพิษงูเห่าไทย 0.28-0.34 มิลลิกรัม แต่ถ้าเป็นพิษงูแสมรังเกล็ดเบลเชอร์ก็เพียง 0.0001 มิลลิกรัมเท่านั้น จะเห็นว่าปริมาณต่างกันมาก นั่นแปลว่ายิ่งค่า LD50 ต่ำ ความรุนแรงของสารพิษยิ่งมาก
งูทะเลอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น แม้ว่างูทะเลส่วนใหญ่จะมีพิษร้ายกาจรุนแรง แต่โอกาสที่คนจะโดนกัดนั้นน้อยมาก เพราะโดยนิสัยแล้วมันมีนิสัยขี้อาย พบไม่บ่อย คนที่ถูกงูทะเลกัดมักเป็นชาวประมงที่เผลอไปจับหรือปลดมันจากอวน แต่สำหรับนักดำน้ำที่เผชิญหน้ากับเจ้าตัวลายนี้ไม่เคยถูกกัดเลย มันจะแค่ว่ายน้ำมาดูแล้วก็หนีไป
งูทะเลจัดว่าเป็นเมนูน่าหม่ำของชาวเวียดนามและเกาะโอกินาวะ มักถูกนำมาปรุงแบบชาบูหรือทำแห้ง แพ็คขายในตลาดเวียดนาม แม้แต่ที่สนามบินดานังก็มีขาย มีหลายครั้งที่เรือประมงเวียดนามแอบรุกน่านน้ำไทยเพื่อมาจับงูทะเลโดยเฉพาะ โดยลอยเรือส่องไฟแล้วช้อนเอา แต่ก็ถูกทางการไทยจับได้เสมอ ในประเทศไทยเองราว 40 ปีก่อน งูทะเลจำนวนมากถูกจับได้จากผลพลอยได้ของอวนลากและถูกนำมาถลกหนังส่งโรงงานทำเข็มขัด กระเป๋าหรู ส่วนเนื้อก็นำไปทำลูกชิ้นปลาชั้นดี (แต่ไม่บอกคนหม่ำนะ) หรือถ้าสภาพไม่ดีแล้วก็จะส่งโรงงานอาหารสัตว์ไป แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
ในน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยมีรายงานการพบงูทะเลอย่างน้อย 31 ชนิด ขณะที่ทั้งโลกพบอย่างน้อย 55 ชนิด โดยพบในทะเลเขตร้อนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกหลากชนิดกว่าในออสเตรเลียตอนบนและเกาะโอกินาวะ มีงูปิ่นแก้วทะเล (Hydrophis platurus) ชนิดเดียวที่ซน ว่ายไปไกลถึงชายฝั่งคอสตาริกา