Headlines

สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 7: “STARGAZING EXPEDITION” Day 1

          สวัสดีชาวโลก! ฉันพ้นจากการกักตัวสามารถออกมาเดินเล่นวนๆ รอบๆ บ้านได้แล้ว แต่เฉพาะในช่วงกลางวันนะ เพราะฉันมีนัดต้องเรียนออนไลน์กับคุณครูที่เวลส์ในทุกค่ำคืน ฉันเริ่มคิดถึงท้องฟ้าและการเรียนในโรงเรียนจริงๆ ซะแล้ว

          ในฉบับต่อๆ ไปนี้ ก็เลยจะเป็นเรื่องราวพิเศษเกี่ยวกับกิจกรรมที่ฉันได้ทำในช่วง Project Week หรือ สัปดาห์โครงงานของโรงเรียนที่เวลส์ หลักการก็คือในช่วงฤดูที่ท้องฟ้าแจ่มใส อุณหภูมิเย็นสบาย นักเรียนทุกคนจะได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการทำกิจกรรม หรือโครงงานที่ตนเองสนใจเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ใครอยากทำอะไรก็นำเสนอแนวความคิดเข้าไปให้ทางคณะกรรมการของโรงเรียนพิจารณาคัดเลือก

          โดยโครงงานจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ การ Service หรืองานบริการอาสา และ Expedition คือการเดินทางเพื่อเรียนรู้ โครงงานที่ผ่านการคัดเลือกจะมีตั้งแต่การทำจิตอาสาดูแลคนไร้บ้าน ไปจนการเดินทางท่องเที่ยวผจญภัย และทำสิ่งที่ท้าทาย อย่างเช่นการปีนหน้าผา ซึ่งทางโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายภายในวงเงินที่กำหนดเท่านั้น ส่วนเจ้าของโครงงานก็จะได้เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งต้องมีหน้าที่กำหนดจำนวนสมาชิกที่รับ จัดตารางกิจกรรม และติดต่อประสานงานกับสถานที่ที่เข้าร่วมกิจกรรม

          ส่วนเพื่อนๆ ที่หัวข้อไม่ผ่านการคัดเลือก หรือเลือกที่จะไม่นำเสนอก็จะลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมทำกิจกรรมในโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ตามที่ตนเองถนัดและสนใจ

          สำหรับฉัน ฉันได้นำเสนอโครงงาน 1 สัปดาห์แห่งการดูดาวและศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศในสหราชอาณาจักร หรือ Stargazing Project และแล้วฉันก็ได้สมาชิกมาร่วมดูดาวอีก 8 คน พร้อมคุณครูที่ปรึกษาอีก 2 ท่านมาคอยดูแลเรื่องการเดินทาง

          ท้องฟ้าที่เวลส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ South Wales ที่โรงเรียนของฉันตั้งอยู่ อยู่ในเขตชนบทแถมติดทะเล ทั้งมืดสนิทและปราศจากแสงรบกวน ตอนที่ฉันสืบค้นสถานที่ที่สนใจจะไป ฉันจึงพบสมาคมที่เกี่ยวข้องกับทางด้านดาราศาสตร์ กระจายตัวอยู่อย่างน้อยหนึ่งแห่งในแต่ละเมืองรอบๆโรงเรียน สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะไปที่เมืองไหนก็สามารถหาแหล่งเรียนรู้ได้จากสมาคมทางด้านดาราศาสตร์ซึ่งมีบริการให้ข้อมูลข่าวสาร แนะนำ และจัดกิจกรรมมอบความรู้ให้แก่คนในแต่ละเขตนั้นๆ

          ในวันแรกของ Stargazing Expedition ฉันจึงเลือกที่จะไป Dyffryn Gardens ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดดูดาวของ Cardiff Astronomical Society (CAS) ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนของฉันประมาณครึ่งชั่วโมงขับรถ

          Dyffryn Gardens แบ่งเป็นส่วนอุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งก็เปิดให้รับชมเช่นกัน แต่ส่วนที่ฉันไปเป็นส่วนของ Observatory หรือ หอดูดาวซึ่งสมาคมดาราศาสตร์ประจำเมืองคาร์ดิฟฟ์ได้จัดตั้ง และสร้างขึ้นมาเอง

          ในทุกๆ เดือนที่นี่จะเปิดให้คนที่สนใจสามารถเดินเข้าไปตามวันที่กำหนด และร่วมดูดาวด้วยกันโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ถ้าเรามีกล้องโทรทรรศน์เราสามารถนำไปเองได้ แต่อันที่จริงแล้วสำหรับผู้ดูดาวเริ่มต้น ตาเปล่า หรือกล้องสองตาส่องทางไกลก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน

          ในส่วนของหอดูดาว จะมีลักษณะเป็นที่กำบังเล็กๆ ที่คนในสมาคมช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาเอง! เนื่องจากความจำเป็นที่หลังคาต้องเปิดออก เพื่อให้กล้องโทรทรรศน์ส่องไปยังท้องฟ้าได้ในยามค่ำคืน และปิดลงในช่วงกลางวัน

ภายนอกของ Observatory ที่ Dyffryn Gardens

          ด้านนอกอาจจะดูไม่ค่อยสะดุดตาซักเท่าไหร่นัก แต่พอเข้าไปภายในแล้วทุกคนถึงกับร้องว้าว! เพราะในบังกะโลเล็กๆ นี้เป็นที่อยู่ของกล้องโทรทรรศน์ถึง 3 ตัวหลักๆ ด้วยกัน รวมไปถึงระบบกล้องตรวจจับอัตโนมัติ (meteor-detecting camera) ที่ใช้ติดตามวัตถุเคลื่อนไหว เพื่อบันทึกเก็บเป็นข้อมูลสถิติของปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ซึ่งวิทยากรบอกว่า หลายครั้งมาเปิดกล้องดูที่เห็นแต่นกพิราบ ไม่ใช่ว่าจะเห็นดาวตกหรืออุกกาบาตเสมอไป

วิทยากรสาธิตการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ (Celestron 11″ diameter HD computer-driven telescope) และระบบการตรวจจับวัตถุเคลื่อนไหวบนท้องฟ้าให้พวกเราชม

 

          ในวันที่พวกเราได้ไปในช่วง Project Week นั้นเป็นช่วงกลางวันของเดือนมีนาคม นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์และกลุ่มดาวต่างๆ แล้ว พวกเรายังได้มีโอกาสใช้กล้อง Solar Telescope หรือกล้องโทรทรรศน์สำหรับส่องดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องนี้จะเป็นกล้องหักเหแสง ประเภทมีแผ่นกรองแสงไฮโดรเจนอัลฟา (H-alpha Telescope) ซึ่งจะเลือกรับความยาวคลื่นของไฮโดรเจนได้ ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อสายตาเราเมื่อมองผ่านแสงแดดจ้า

ภาพทดลองใช้กล้อง Solar Telescope

          ฉันเคยพาเพื่อนๆ พร้อมกับอาจารย์มาเข้าร่วมกิจกรรม Star Party เมื่อเดือนมกราคม ที่ Dyffryn Gardens มาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นเป้าหมายก็คือต้องให้ทาง CAS สอนวิธีใช้กล้องโทรทรรศน์อันเก่าแก่ที่ฉันค้นพบในห้องทดลองฟิสิกส์ของโรงเรียน แต่สุดท้ายในวันนั้นท้องฟ้าปิดและเต็มไปด้วยเมฆ เราก็เลยย้ายมาฟังบรรยายกันในห้องแทน ทาง CAS ได้ใช้โปรแกรมดูดาว Stellarium สำหรับแสดงปรากฏการณ์ของท้องฟ้าและวัตถุต่างๆ เป็นเครื่องมือประกอบการบรรยาย

ภาพฟังบรรยายในคืนกิจกรรม Star Party

          นอกจากนี้วิทยากรยังได้แนะนำพวกเราเกี่ยวกับการดูดาว เผื่อว่าเราจะเอาไปดูที่โรงเรียนของเรา ความมืดของท้องฟ้าเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญ สิ่งรบกวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างจากโดยรอบ ฝุ่นละอองบนท้องฟ้า ล้วนมีผลทำให้เราสังเกตการณ์ได้ยาก สิ่งที่เราสามารถทำได้คือระวังการสร้างมลภาวะทางแสง (light pollution) เนื่องจากแสงใช้เวลาระยะหนึ่งในการเดินทาง และถ้าเราใช้ไฟฉายที่ให้แสงไฟสีขาวซึ่งเป็นช่วงแสงที่ตามองเห็น (visible light) แสงนั้นจะยังคงอยู่ในอากาศรอบรอบตัวเราถึงแม้เราจะปิดไฟฉายไปแล้ว

          ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง กว่าที่สายตาเราจะปรับสภาพกลับมาเข้ากับความมืดและสามารถมองเห็นดาวได้ชัดเจนเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่เราก็สามารกใช้ไฟฉายที่ให้แสงไฟสีแดงทดแทนได้ หรือทำได้เองโดยง่ายด้วยการใช้นำยาทาเล็บสีแดงทาที่หลอดไฟ หรือนำกระดาษแก้วสีแดงมาห่อที่ปากกระบอกไฟฉายก็ได้เช่นกัน

          ทำให้ฉันได้รู้ว่าประเด็นสำคัญที่แท้จริงของการดูดาว ไม่ใช่การส่องดูเพียงเพื่อมองหาดาวอย่างเดียว แต่คือการที่เราได้ศึกษาตำแหน่งต่างๆ ของดวงดาวบนท้องฟ้า และสามารถแยกแยะให้เป็นว่ากลุ่มดาวต่างๆ มีการจัดเรียงตัวบนท้องฟ้าอย่างไร

          เมื่อเราชำนาญแล้วก็จะสามารถใช้ทักษะการประกอบกับการใช้กล้องโทรทรรศน์ เพื่อการศึกษาเชิงลึกต่อไป หรือถ้าอยากถ่ายภาพเก็บไว้ศึกษา ทางที่ดีก็คือใช้กล้องโทรทรรศน์บนอวกาศ หรือพวกดาวเทียม ส่งสัญญาณกลับมา แน่นอนว่าจะได้ภาพที่คมชัดกว่าส่องดูจากโลกแน่ๆ เพราะภาพที่เห็นจากโลกจะเห็นเฉพาะกลุ่มดาวบางกลุ่ม และวัตถุทางท้องฟ้าบางอย่างนั้นก็เล็ก และแสงสว่างริบหรี่เกินกว่าจะจับภาพได้

          ถึงแม้เห็นด้วยตาก็เป็นแค่จุดแสงคล้ายๆ กันไปหมด แต่เราก็ยังสามารถระบุสิ่งที่มองเห็นได้ว่าเป็นอะไร จากการสังเกตการจัดเรียงตัวที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนของสิ่งนั้น และเมื่อเจอดาวดวงหนึ่ง ก็สามารถโยงตำแหน่งไปยังอีกหนึ่ง ค่อยๆ ไล่ตามกันไป การบรรยายของวิทยากรเองก็เป็นในลักษณะเช่นนั้น ซึ่งนั่นช่วยให้ฉันเข้าใจง่ายขึ้น การดูดาวจึงไม่ได้ยากอย่างที่คิดกัน

          สิ่งที่ยิ่งทำให้ฉันชอบและสนใจมากที่สุดคือ การเชื่อมโยงดวงดาวกับเรื่องราวของตำนานเทพเจ้ากรีก ทำให้การจดจำกลุ่มดาวง่ายขึ้นอีกเยอะ ฉันชอบอ่านตำนานเทพปกรณัมกรีกและโรมัน (Greek and Roman Mythology) ฉันอ่านตั้งแต่ฉันยังไม่รู้เรื่องกลุ่มดาว อวกาศ และดาราศาสตร์เลยด้วยซ้ำ

          แต่พอได้มารู้ว่าความสัมพันธ์ของเทพเจ้ากรีก วีรบุรุษ หรือแม้แต่สัตว์ในตำนานทั้งหลาย มันเกิดมาจากจินตนาการของคนสมัยก่อน ที่ได้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ของดาวแต่ละกลุ่มนี่แหละ

          ตำนานหนึ่งที่ฉันคุ้นเคยที่สุดคือตำนานของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) กลุ่มดาวที่สามารถเห็นได้จากแทบทุกที่ของมุมโลก กับตำนาน “โอไรออน” นายพรานที่มีความสามารถที่สุด

          แต่เสียตรงที่เป็นคนหลงตัวเอง โอ้อวดว่าจะฆ่าสัตว์ให้หมดจากโลก ได้ยินถึงเทพีแห่งพื้นดินผู้คุ้มครองสัตว์ป่า “ไกอา” นางเลยโกรธและสั่งให้แมงป่องมาฆ่าโอไรออน แต่เทพีอาร์เตมิส (เทพีแห่งดวงจันทร์ผู้มีชื่อเสียงในด้านการล่าสัตว์เช่นกัน) เกิดหลงรักโอไรออนเข้า ได้ขอร้องให้พ่อของตนคือมหาเทพซุส ชุบชีวิตโอไรออนให้ไปเกิดเป็นกลุ่มดาว ส่วนแมงป่องตัวนั้นก็ได้เกิดเป็นกลุ่มดาวเช่นกัน    และเพื่อความปลอดภัยของนายพรานโอไรออน ซุสได้วางให้ทั้งสองอยู่คนละฟากฟ้ากัน จะขึ้นตกจากท้องฟ้าคนละเวลา และไม่มีวันได้เจอกันอีกนั่นเอง!

          จากเรื่องราวนี้เอง ทำให้ฉันสามารถแยกแยะกลุ่มดาวจากการจัดเรียงตัวและตำแหน่งของพวกมันบนท้องฟ้า อีกไม่กี่สัปดาห์ฉันก็จะปิดเทอมแล้ว และจะได้ออกมาสังเกตท้องฟ้าที่เมืองไทยอย่างจริงๆ จังๆ อีกครั้ง

ภาพกลุ่มดาวนายพรานที่ฉันวาด และภาพที่ถ่ายจากโรงเรียนของฉัน

 

สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์ของCardiff Astronomical Society: https://www.cardiff-astronomical-society.co.uk

https://www.baanjomyut.com/library_3/extension-1/orion/01.html


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 86 เดือนพฤษภาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/181380

About Author