ม.มหิดล เปิดหลักสูตรอินเตอร์ด้าน “Creative Technology” สร้างสรรค์สังคมแตกต่างหลากหลายในโลกยุคดิสรัปชั่น

          ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล ผนึกกำลัง 4 คณะ เปิดหลักสูตรอินเตอร์ด้าน “Creative Technology” สร้างสรรค์สังคมแตกต่างหลากหลายในโลกยุคดิสรัปชั่น

          มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกของไทยที่พยายามผนวกองค์ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน บนพื้นฐานที่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม โดย วิทยาลัยนานาชาติ (MUIC) ได้ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยราชสุดา ริเริ่มจัดตั้งหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ขึ้นเป็นหลักสูตรต้นแบบ หลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถเชื่อมต่อโลกแห่งเทคโนโลยีกับความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมจากการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ได้อย่างสร้างสรรค์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) เป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ของสังคมในการสร้างบัณฑิตที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไปในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนบริบทของการดำเนินการเรียนการสอน โดยใช้จุดแข็งที่เรามีจาก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผลิตบัณฑิตกว่า 8,800 คน ในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) ซึ่งมีการเรียนการสอนที่โดดเด่นทางด้าน Computer Science ที่มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับ Time Higher Education World University Ranking 2021 by Subject นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรจากสถาบันด้านการรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีของยุโรป “MusiQuE” และ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำระดับอาเซียน ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อร่วมทำให้หลักสูตรที่สร้างสรรค์ขึ้นนี้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนในสังคมได้อย่างครอบคลุม ผ่านการออกแบบทางความคิด (Design Thinking) ที่สร้างสรรค์

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานเทคโนโลยี และการออกแบบเข้าด้วยกัน บนพื้นฐานแห่งความเชื่อที่ว่า การออกแบบ Eco-systems ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดชีวิตที่ดี ซึ่งโลกปัจจุบันต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเป็นผู้รู้เพียงศาสตร์เดียวอาจไม่เพียงพอ หลักสูตรนี้จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนข้ามศาสตร์ร่วมกับนักศึกษาต่างคณะ ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษที่หลากหลาย โดยเชื่อว่า “สังคมที่ดี คือสังคมที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางความต้องการเช่นเดียวกัน”

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT)

          อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) กล่าวว่า MUICT มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนด้าน Computer Science จากคณาจารย์ที่มากด้วยประสบการณ์ด้วยดีกรีจากมหาวิทยาลัยระดับ World Class อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งสามารถการันตีได้ถึงความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ผู้สอนจากสถาบันชั้นนำระดับโลกดังกล่าวจะได้นำมาถ่ายทอดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีสร้างสรรค์ได้อย่างมั่นใจในการประกอบอาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Gaming, VR Technology และ Programming ซึ่งเป็นความชำนาญของเรา โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านศิลปะ อย่างเช่น Graphic Designer, Fine Arts หรือ Music Producing ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ จากการเรียนหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ผู้เรียนจะได้มีโอกาสศึกษาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารที่แตกต่างหลากหลายจากมุมมองของผู้ที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจที่ครอบคลุมถึงความต้องการที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดอ่อนของตลาดสื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่พบในปัจจุบัน คือ การขาดความรู้ด้านดนตรี โดยสามารถเลือกเรียนได้อย่างครบวงจรจากหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) ซึ่งที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีครบพร้อมโดยครอบคลุมถึงการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีดนตรีที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การแต่งเพลงประกอบเกม การจัดทำสื่อสร้างสรรค์อื่นๆ หรือต่อยอดเรียนดนตรีเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งสามารถขยายโอกาสไปถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งการสามารถรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย เป็นความงดงาม และเป็นต้นแบบที่ดีของสังคมแห่งความเอื้ออาทร

อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

          เพื่อความเข้าใจในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก่อนการจัดตั้งหลักสูตรฯ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด “ชั้นเรียนภาษามือ” ให้ 4 คณบดีที่ร่วมพัฒนาหลักสูตร ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยนานาชาติ (MUIC) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าถึงประสบการณ์ร่วมกันในห้องเรียนจำลอง โดย อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาษามือเกิดจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนหูหนวก ซึ่งมีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างจากการใช้ภาษาไทยปกติ ซึ่งหากเราเข้าใจวัฒนธรรมของคนหูหนวก เราจะเข้าใจภาษามือของคนหูหนวกด้วย และจะดีเพียงใดหากเราสามารถสร้าง Eco-systems ให้ผู้คนในสังคม ซึ่งนอกจากคนทั่วไป คนหูหนวก ยังรวมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษในด้านอื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเข้าถึงกันมากยิ่งขึ้น โดยผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์พิเศษดังกล่าวจากชั้นเรียนหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology)

          ติดตามรายละเอียดของหลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Bachelor of Arts and Science in Creative Technology) และสมัครได้ที่ www.muic.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author